พยาธิใบไม้ในตับ

พยาธิใบไม้ในตับ การป้องกันพยาธิใบไม้รู้ก่อนจะไม่พลาด 5 พยาธิ?

พยาธิใบไม้ในตับ

สถานการณ์ของโรคพยาธิใบไม้ตับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น คณะนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าคนไทย 10 % หรือ 6 ล้านคน ติดโรคพยาธิใบไม้ตับที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Opisthorchis viverrini โดยพบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งของท่อน้ำดีในตับ เนื่องจากประชาชนนิยมบริโภคปลาดิบที่ติดพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พบผู้เป็นมะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในประเทศและในโลกด้วย

รู้จักพยาธิใบไม้ตับ 
          โรคพยาธิใบไม้ตับ มีสาเหตุมาจากพยาธิที่มีรูปร่างแบนคล้ายใบไม้ โดยมีส่วนหัวและส่วนท้ายของลำตัวเรียวมน ขนาดของพยาธิใบไม้ตับมีลำตัวยาว 5-10 มม.กว้าง 1-2 มม.ในลำตัวจะมีระบบสืบพันธุ์ของทั้งเพศผู้และเพศเมีย พบได้ทั้งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงหนือ ภาคเหนือของไทย และประเทศลาวในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง  

วงจรชีวิตพยาธิใบไม้ในตับ
วงจรชีวิตพยาธิใบไม้ในตับ

          วงจรชีวิตของพยาธิใบไม้ตับ พยาธิตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในท่อทางเดินน้ำดีที่อยู่ในตับของคน สุนัขและแมว พยาธิตัวเต็มวัยผสมพันธุ์แล้วสร้างไข่จำนวนมาก ซึ่งไข่ของพยาธิชนิดนี้มีขนาดเล็กสีน้ำตาลเหลือง ไข่ที่ออกมาจะปะปนมากับน้ำดี และลงสู่ลำไส้เล็ก จากนั้นออกสู่ภายนอกร่างกายโดยการถ่ายอุจจาระ หากไข่ตกลงสู่น้ำจะถูกหอยน้ำจืดขนาดเล็กบางชนิดที่มีความสามารถเป็นพาหะขั้นที่ 1กินเข้าไป ตัวอ่อนที่อยู่ในไข่พยาธิจะใช้เวลาเจริญในหอยประมาณ 6-8 สัปดาห์ จึงออกจากหอยและว่ายน้ำไปไชเข้าใต้เกล็ดของปลาน้ำจืด (เช่น ปลาตะเพียน ปลาขาว ปลาสร้อย ปลากะสูบ ปลาแม่สะแด้ง ปลาซิว ปลาแก้มช้ำ ปลาขาวนา) แล้วเจริญเป็นพยาธิตัวอ่อน ระยะติดต่อในเนื้อปลา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ เมื่อคนหรือสุนัข และแมวกินเนื้อปลาที่ปรุงไม่สุกหรือดิบ ก็จะได้รับตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อเข้าไป เมื่อน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กย่อยเนื้อปลา ผนังหุ้มตัวอ่อนของพยาธิ ก็จะทำให้ตัวอ่อนของพยาธิออกมาคืบคลานเข้าไปในระบบท่อน้ำดี ผ่านทางรูเปิดที่ลำไส้เล็ก และเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวเต็มวัยต่อไป

           อาหารก่อโรค ที่เสียงต่อพยาธิใบไม้ตับที่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมกินที่ทำจากปลาที่ปรุงไม่สุก เช่น ก้อยปลา ปลาสด ปลาส้ม ปลาจ่อม หม่ำปลา ปลาหมกไฟ ปลาปิ้ง ลาบปลา ปลาร้า แจ่วบอง ซึ่งตัวอ่อนของพยาธิระยะติดต่อ ยังมีชีวิตอยู่  และสามารถเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวเต็มวัยในท่อน้ำดีภายในตับได้ นอกจากพยาธิใบไม้ตับที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งของท่อน้ำดีแล้ว ยังพบว่ามีสารไนโตรซามีน(Nitrosamine)ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในอาหารพวกโปรตีนหมัก เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม และอาหารพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว เช่น กุนเชียง ไส้กรอก เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ก็เป็นปัจจัยเสริมก่อโรคด้วย

            อาการ ผู้ที่ติดโรคพยาธิใบไม้ตับ มีตั้งแต่ไม่มีอาการอะไรเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะมีจำนวนพยาธิไม่มากนัก หรืออาจมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อเป็นครั้งคราว อาการร้อนท้อง อาการต่อมาที่พบคือ อาการเบื่ออาหาร ท้องอืดมาก ตับโต และกดเจ็บบริเวณตับ (บริเวณชายโครงขวา) อาการที่รุนแรงมักพบมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ต่ำๆ หรือไข้สูงจนมีอาการหนาวสั่น ซึ่งมักเกิดจากอาการแทรกซ้อน เช่น ท่อทางเดินน้ำดีอุดตันจากตัวพยาธิไปอุด การอักเสบติดเชื้อของท่อทางเดินน้ำดีหรือถุงน้ำดี หรือมะเร็งของท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุด

อาการ ผู้ที่ติดโรคพยาธิใบไม้ตับ
อาการ ผู้ที่ติดโรคพยาธิใบไม้ตับ

            การตรวจวินิจฉัยที่ง่ายที่สุด การตรวจอุจจาระและพบไข่พยาธิ ซึ่งไข่มีรูปร่างคล้ายหลอดไฟฟ้าชนิดกลมมีไส้ ไข่มีขนาดเล็กสีน้ำตาลเหลือง นอกจากนี้อาจตรวจทางวิทยาภูมิคุ้มกัน หรือการตรวจทางรังสีวินิจฉัยร่วมด้วย 

            การรักษา ปัจจุบันใช้ยาพราซิควอนเทล (Praziquantel) เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษา ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีมาก โดยอัตราการรักษาหายประมาณร้อยละ 91-95 แต่เมื่อรักษาหายแล้วถ้ายังไม่เลิกกินปลาดิบที่มีตัวอ่อนพยาธิอยู่ ก็จะทำให้กลับมาเป็นโรคได้อีก ดังนั้นการรักษาให้หายขาดต้องเลิกกินปลาดิบ ส่วนในผู้ป่วยที่มีการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดี ซึ่งอาจเกิดจากการอักเสบเรื้อรังหรือจากมะเร็งของท่อน้ำดี จะใช้การรักษาทางศัลยกรรมร่วมด้วย 

            ข้อมูลจากคณะนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าในรายที่เป็นมะเร็งของท่อน้ำดี การรักษาโดยการผ่าตัดทำได้ในผู้ป่วยจำนวนร้อยละ 10-15 ส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัดเพื่อบรรเทาภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งท่อน้ำดี ร้อยละ 85-90 ต้องรับการรักษาต่อด้วยวิธีเคมีบำบัด ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้ผลการรักษาที่ดี และปัจจุบันกำลังมีการศึกษาวิจัยหาวิธีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยยิ่งขึ้น

             การดูแลผู้ป่วยที่ติดโรคพยาธิใบไม้ตับ แนะนำให้กินยาตามที่แพทย์สั่ง และต้องเลิกกินปลาดิบ ส่วนในผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนหรือมะเร็งในท่อน้ำดี จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ 

             การป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับโรคมะเร็งท่อน้ำดีที่มีสาเหตุมาจากพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งตับ
             1. เลิกกินปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด แบบดิบหรือปรุงไม่สุก
             2. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง ได้แก่ อาหารที่มีราขึ้น อาหารที่ใส่ดินประสิวและไนโตรซามีน เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม แหนม ไส้กรอก รวมถึงอาหารประเภทหมักดอง
             3. กินอาหารตามหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่ครบถ้วนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
             4. เลิกดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ซึ่งในบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากถึง 43 ชนิด
             5. ขับถ่ายในส้วมให้ถูกสุขลักษณะ เพราะถ้าถ่ายไม่ถูกที่ ของเสียที่ลงสู่แม่น้ำลำคลองก็จะทำให้ไข่ของพยาธิใบไม้ตับมีโอกาสแพร่กระจายเข้าสู่หอยน้ำจืดซึ่งเป็นพาหะที่ 1ของพยาธิใบไม้ตับได้

             โดยสรุปโรคพยาธิใบไม้ตับมีหลักการในการควบคุมและป้องกันโรคง่ายมากคือ เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบ ให้หันมากินปลาที่ปรุงสุกแทน แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก เพราะเป็นวัฒนธรรมการกินที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แม้ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จะพยายามรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของโรคพยาธิใบไม้ตับ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งของท่อน้ำดีก็ตาม 

             ว่าแต่ถ้าใครติดโรคพยาธิใบไม้ตับแล้ว สามารถขอรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง อย่าละเลยนะค่ะ.

ขอบคุณที่มาบทความ si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=779 วันจันทร์, 9 พฤษภาคม 2565
บทความแนะนำ หมวดหมู่: ไลฟ์สไตล์
จำนวนคอมเมนต์ของโพสต์ ID 174918: 443