การขยายพันธุ์พืช
(PLANT PROPAGATION)
พรรณพืชดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงทุกวันนี้ ด้วยการสืบพันธุ์เกิดลูกหลานมีชีวิตสืบต่อกันมา การสืบพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจึงทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นๆ เพิ่มจำนวนหรือคงรักษาจำนวนไว้ได้ เมื่อมนุษย์มีการนำพรรณพืชมาใช้ประโยชน์มากขึ้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนให้เพียงพอกับความต้องการด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อผลิตพืชพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกต่อไป ดังนั้นการขยายพันธุ์พืชจึงมีจุดมุ่งหมายอยู่ 2 ประการที่สำคัญคือ เพิ่มปริมาณพันธุ์พืชที่ใช้ในการเพาะปลูกให้เพียงพอและดำรงรักษาพันธุ์พืชที่ต้องการนั้นไว้ ซึ่งจะได้มาจากธรรมชาติหรือจากการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมา
ความหมายและความสำคัญของการขยายพันธุ์พืช
ความหมายของการขยายพันธุ์พืช (plant propagation) ในทางการเกษตรนั้น หมายถึง การเพิ่มปริมาณให้ต้นพืชมีจำนวนมากขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อคงลักษณะพันธุ์ที่ต้องการไว้ให้ได้ปริมาณมากอย่างรวดเร็ว มีผลตอบแทนสูงและดำรงรักษาเผ่าพันธุ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ มีลักษณะทางพันธุกรรมของพ่อแม่ไว้ตรงตามพันธุ์ สามารถกระทำได้หลายวิธีการโดยมนุษย์เป็นผู้กระทำขึ้น งานขยายพันธุ์พืชจึงมีบทบาทสำคัญกับงานทางด้านพืชสวนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตต้นพันธุ์สำหรับใช้ปลูก สามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพทางด้านการขยายพรรณไม้จำหน่าย ทำรายได้ในระยะเวลาสั้น ไม่ต้องลงทุนมากและเสียเวลาปลูกจนผลผลิตถึงระยะเก็บเกี่ยว
นักขยายพันธุ์พืชจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ของพืช (science of propagation) ซึ่งได้มาจากพื้นฐานของวิชาการหลายด้านในการเข้าใจธรรมชาติของพืช การเจริญเติบโต การสืบพันธุ์และอื่นๆ อีกหลายวิชา รู้จักวิธีการปฏิบัติให้ได้ผลสำเร็จต้องอาศัยหลักการทางด้านศิลปะของการขยายพันธุ์ (art of propagation) ทั้งทักษะการทำงานและประสบการณ์มาประกอบกันด้วย นอกจากนั้นสิ่งที่จำเป็นอีกประการหนึ่ง คือ ต้องรู้จักชนิดของพืชให้มากที่สุด จึงจะสามารถเลือกใช้วิธีการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมและให้ผลสำเร็จสูง
หลักการขยายพันธุ์พืชสามารถปฏิบัติได้ 2 แบบ คือ แบบอาศัยเพศ (sexual propagation) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมารวมตัวกันของเซลล์สืบพันธุ์ จึงมีทั้งโอกาสที่จะได้ลักษณะผันแปรที่ดีขึ้นกว่าพ่อแม่หรือด้อยลงกว่าลักษณะเดิมก็ได้ จึงเป็นวิธีการที่ได้มาจากการใช้เมล็ด และแบบไม่อาศัย (asexual propagation) ด้วยวิธีการชักนำให้เกิดเป็นต้นใหม่จากส่วนต่างๆ ของ ลำต้น จึงยังคงลักษณะเหมือนกับต้นที่นำมาขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์พืชที่เกี่ยวกับการใช้เพศ
ส่วนประกอบที่สำคัญของเมล็ด จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
- เปลือกหุ้มเมล็ด (seed coat) ทำหน้าที่ในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับส่วนที่อยู่ภายในเมล็ดและควบคุมให้เมล็ดสามารถงอกได้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญ เติบโตของพืชนั้นๆ
- อาหารสะสม (endosperm) เป็นแหล่งสะสมอาหารไว้ให้ต้นกล้าสามารถเจริญเติบโตได้ในระยะแรก เมล็ดที่มีอาหารสะสมไว้มากกว่าจะทำให้เมล็ดนั้นมีความแข็งแรง และให้เปอร์เซ็นต์การงอกสูงกว่า พืชบางชนิดเก็บอาหารไว้ในใบเลี้ยงของคัพภะด้วย
- คัพภะ (embryo) เป็นส่วนสำคัญที่สุดของเมล็ดที่จะพัฒนาไปเป็นส่วนต่างๆ ของต้นพืช
เมล็ดพืชทุกชนิดจะประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่รูปร่างของเมล็ดพืชแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบภายในและภายนอกของเมล็ด ทำให้เมล็ดสามารถแพร่กระจายไปตามสถานที่ต่างๆ และมีความสามารถงอกได้แตกต่างกัน เช่น เมล็ดกล้วยไม้ มีส่วนของอาหารสะสมในเมล็ดน้อยมาก เมล็ดมีขนาดเล็ก งอกได้ไม่ดีในสภาพธรรมชาติ จึงควรนำมาเพาะบนอาหารสังเคราะห์จะได้ต้นกล้าจำนวนมาก
การงอกของเมล็ดพืชโดยทั่วไปนั้นจะเกิดได้ดี เมล็ดต้องมีความพร้อมทางสรีรวิทยาแล้ว ยังจะต้องไม่มีปัจจัยอื่นมายับยั้งการงอกของเมล็ดด้วย เช่น เปลือกของเมล็ด สารยับยั้งการงอกที่ห่อหุ้มอยู่ที่เปลือกเมล็ด เป็นต้น ดังนั้นเมล็ดที่นำมาใช้เพาะขยายพันธุ์ต้องเป็นเมล็ดที่มีชีวิต เมล็ดสามารถงอกได้พ้นจากการพักตัวแล้ว และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการงอกด้วย
เมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐานวางจำหน่ายตามท้องตลาดจะต้องผ่านขั้นตอนการรับรอง คุณภาพของเมล็ดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์มาแล้ว คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ (seed quality) ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- ตรงตามพันธุ์ (true to type) เป็นเมล็ดที่ได้ผ่านการรับรองว่าถูกต้องตามพันธุ์ โดยไม่มีเมล็ดพันธุ์อื่นๆ ปะปนมาด้วย
- ปราศจากสิ่งเจือปน (purity) มีความบริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งเจือปน เช่น ฝุ่น เมล็ดพืช และเศษวัสดุอื่นๆ
- มีความงอกสูง (high germination) เมล็ดมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของพืช เช่น ตั้งแต่ 40-98 เปอร์เซ็นต์
- ปราศจากโรคและแมลงและส่วนขยายพันธุ์ของศัตรูพืช
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดนั้น จะต้องประกอบด้วย
- ความชื้นหรือน้ำ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการงอกของเมล็ด ทำให้ส่วนของเปลือกที่ห่อหุ้มเมล็ดอยู่นั้นอ่อนตัวและยอมให้น้ำและอากาศผ่านเข้าออกในเมล็ดได้ ทำให้การทำงานของเอนไซม์และขบวนการต่างๆ ภายในเซลล์เกิดขึ้น และมีส่วนในการลำเลียงอาหารไปยังจุดเจริญ (growing point) เกิดการแบ่งเซลล์เจริญเป็นต้นกล้า (seedling) เมล็ดพืชแต่ละชนิดต้องการความชื้นในการงอกของเมล็ดในระดับต่างๆ กันไป ตั้งแต่ใกล้จุดเหี่ยวถาวร (permanent wilting point) จนถึงจุดอิ่มตัวของความชื้นในดิน (field capacity) การเตรียมดินหรือวัสดุเพาะจะเป็นการช่วยปรับปรุงโครงสร้างของอนุภาควัสดุเพาะให้เหมาะสมกับเมล็ดในการดูดซึมน้ำ เมล็ดที่มีขนาดเล็กจึงต้องมีการเตรียมดินที่พิถีพิถันว่าเมล็ดที่มีขนาดใหญ่
- อุณหภูมิ มีความสัมพันธ์กับการดูดซึมน้ำของเมล็ด และกระตุ้นขบวนการเมตา-โบลิซึ่ม (metabolism) ต่างๆ ภายในเมล็ด ทำให้เกิดการสร้างและเผาผลาญอาหารภายในเมล็ดพืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคที่แตกต่างกัน จะมีความต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสมในการงอก แตกต่างกันด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสมในการงอกของพืชส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส
- ออกซิเจน เซลล์ของสิ่งมีชีวิตต้องหายใจเพื่อสลายอาหารที่สะสมไว้มาใช้ใน ขบวนการเจริญเติบโตและการงอกของเมล็ด เมล็ดพืชแต่ละชนิดมีความต้องการปริมาณออกซิเจนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอาหารที่สะสมอยู่ในเมล็ดนั้น เมล็ดที่มีไขมัน (fat) สะสมอยู่มาก เช่น เมล็ดถั่วเหลือง ทานตะวัน ต้องการใช้ออกซิเจนในการงอกของเมล็ด มากกว่าเมล็ดที่มีแป้งเป็นอาหารสะสม ดังนั้นสภาพที่เมล็ดถูกฝังลึกหรือดินในแปลงเพาะเป็นดินเหนียวที่มีน้ำขังแฉะ จึงทำให้การงอกของเมล็ดช้ากว่าปกติหรือเมล็ดอาจตายได้
- แสง อาจจะมีส่วนช่วยในการงอกหรือยับยั้งการงอกของเมล็ดได้ ส่วนของเมล็ดที่รับรู้หรือตอบสนองต่อความยาวคลื่นแสงในการงอกนั้นได้แก่ รงควัตถุที่พบอยู่ในเปลือกหุ้มเมล็ด (seed coat) ใบเลี้ยง (cotyledon) และคัพภะ (embryo) การกลบเมล็ดด้วยวัสดุเพาะ จึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมตามชนิดของเมล็ดพืชที่ต้องการแสงในการงอกของเมล็ดด้วย
เทคนิคอื่นๆ ในการเพาะเมล็ดที่ช่วยให้เมล็ดสามารถงอกได้ สามารถปฏิบัติด้วยวิธีการต่างๆ ต่อเมล็ด เช่น การทำลายการพักตัวของเมล็ดด้วยวิธีกล การแช่ด้วยน้ำและสารเคมี ความร้อน ความเย็น เป็นต้น วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้เมล็ดสามารถงอกได้ในระยะเวลาที่เร็วกว่าปกติ จึงมีเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดสูง และลดอัตราการเสี่ยงต่อการสูญเสียเมล็ดพันธุ์ไป
วิธีการเพาะเมล็ด สามารถทำได้หลายวิธีคือ
- การเพาะเมล็ดในแปลง นิยมใช้ในกรณีที่ต้องการต้นกล้าจำนวนมาก ไม่ต้องการความปราณีตมากนัก เมล็ดพันธุ์มีราคาไม่แพงหรือต้นกล้านั้นไม่ต้องการการย้ายปลูกหรืออาจจะชะงักงันจากการย้ายปลูกได้ การเพาะเมล็ดสามารถปฏิบัติได้ 3 วิธี คือ
– การเพาะเมล็ดเป็นหลุม โดยวิธีการหยอดเมล็ดลงในหลุมที่ทำการเตรียมดินและ
กะระยะปลูกตามต้องการไว้แล้ว อาจใช้เครื่องมือทุ่นแรงช่วยในการหยอดเมล็ดจำนวนเมล็ดที่ใช้ต่อหลุมจะชึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ด และสภาพกรดูแลเอาใจใส่ เช่น ผักกาดหัว ข้าวโพดหวาน
– การเพาะเมล็ดเป็นแถว โดยการโรยเมล็ดเป็นแถวตามแนวบนแปลงที่ได้เตรียมดินไว้แล้วตามระยะห่างระหว่างแถวที่กำหนด สามารถทำให้สะดวกในการปฏิบัติงาน ขณะทำการย้ายต้นกล้า หรือ การถอนแยกต้นที่ไม่แข็งแรงออกให้ได้ระยะระหว่างต้นตามต้องการ เช่น ผักบุ้ง แครอท
– การเพาะเมล็ดโดยวิธีการหว่าน เป็นวิธีการหว่านเมล็ดลงในพื้นที่ที่ได้เตรียมดินแล้ว นิยมทำกันในการปลูกผักกินใบบนแปลงที่ยกร่อง เช่น คะน้า ผักกาดจ้อน ปวยเหล็ง และคลุมดินรักษาความชื้นไว้โดยใช้วัสดุคลุมดิน เช่น ฟางข้าว แกลบ เป็นต้น
- การเพาะเมล็ดในวัสดุเพาะ เป็นวิธีที่นิยมใช้กับเมล็ดพืชที่มีราคาแพง หายาก ต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดในระยะต้นกล้า เหมาะกับพืชที่ต้องการการย้ายปลูก สามารถกำหนดระยะเวลาปลูกได้ตามต้องการ และสามารถปลูกซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้ เช่น ดาวเรือง มะเขือเทศ พริก
วัสดุเพาะเมล็ดที่เหมาะสมในการเลือกใช้ ควรเป็นวัสดุที่ระบายน้ำได้ดี เก็บความชื้นได้เหมาะสม โปร่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี มีน้ำหนักเบา สะอาดปราศจากโรคและแมลง หาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยนำวัสดุเพาะมาผสมคลุกเคล้าเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติให้เหมาะสมตามต้องการ ตัวอย่างวัสดุเพาะที่นิยมใช้กันได้แก่ ทรายผสมขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1 : 1 โดยปริมาตร ถ้าเป็นเมล็ดที่เป็นขนาดเล็กมากควรร่อนวัสดุเพาะที่เป็นส่วนผสมของทราย : ดิน : ปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราส่วน 1 : 1 : 1 โดยปริมาตร เมล็ดพืชทั่วไปนั้นสามารถใช้อาหารสะสมภายในเมล็ดที่มีอย่าง เพียงพอในการเจริญเติบโตในระยะแรกก่อนที่จะทำการย้ายปลูกต่อไป ส่วนผสมของแร่ธาตุอาหาร
ในวัสดุเพาะจะมีความจำเป็นกับเมล็ดที่มีอาหารสะสมอยู่น้อย หรือเมล็ดที่ใช้ระยะเวลาอยู่ในวัสดุเพาะเป็นเวลานาน ภาชนะที่ใช้สำหรับเพาะเมล็ดสามารถเลือกใช้ตามความสะดวกในการปฏิบัติงาน เช่น ตะกร้าพลาสติก กระถาง ถุงพลาสติก ลังไม้ กระบะ เป็นต้น
การขยายพันธุ์พืชแบบไม่อาศัยเพศ (asexual propagation)
เป็นวิธีการขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนต่างๆ ของต้นพืช ในแต่ละส่วนของพืชนั้นได้มาจากการแบ่งเซลล์ของจุดเจริญ และพัฒนาไปทำหน้าที่ต่างๆ กันทางกิ่งก้าน (vegetative parts) ขบวนการแบ่งเซลล์ที่เกิดขึ้นนี้จะคงลักษณะทางพันธุกรรมไว้ การแบ่งเซลล์ของพืชนั้นจะพบอยู่ใน 3 ส่วนด้วยกัน คือ บริเวณปลายยอด บริเวณปลายราก และจากส่วนของเนื้อเยื่อเจริญที่อยู่รอบลำต้น (cambium cell)
นอกจากนั้นแล้วเซลล์พืชบนส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นพืชยังสามารถเปลี่ยนไปเป็นจุดเจริญ (meristematic cell) และพัฒนาต่อไปเป็นยอดหรือรากได้ เรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า “dedifferentiation” และเซลล์ที่มีชีวิตทุกเซลล์มีข้อมูลทางพันธุกรรมที่จำเป็นสำหรับสร้างส่วนต่างๆ ทั้งหมดของพืชได้ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “totipotency” จึงทำให้สามารถนำเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช มาทำให้เกิดเป็นต้นพืชต้นใหม่และใช้ในการขยายพันธุ์ต่อไปได้
ส่วนประกอบต่างๆ ของพืชที่สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้นั้น ได้แก่
- ราก (root) สามารนำไปตัดแบ่งก่อนนำไปชำ เพื่อทำให้เกิดตาและรากขึ้นใหม่ เช่น สาเก มันเทศ มะขามป้อม กาสะลอง ฝรั่ง
- ลำต้น (stem) โดยนำส่วนของกิ่งก้านของลำต้นมาปักชำหรือโดยการตอนกิ่ง สามารถแบ่งส่วนของลำต้นที่นำมาใช้ได้ 3 แบบ
2.1 ใช้ส่วนของลำต้นจริง เช่น กุหลาบ ชบา เล็บครุฑ วาสนา ไผ่
2.2 ใช้ส่วนของลำต้นที่เปลี่ยนรูปไป สามารถแยกส่วนออกมาขยายพันธุ์ได้ง่ายตามธรรมชาติ เช่น
– รันเนอร์ (runners) คือ ต้นพิเศษชนิดหนึ่งที่เจริญออกมาจากข้อที่อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างต้นและรากของพืชบางชนิดที่เจริญอยู่ในแนวระดับผิวดินและเกิดเป็นต้นใหม่ เช่น สตรอเบอรี่
– สโตลอนส์ (stolons) คือ ยอดที่เจริญขึ้นชนิดหนึ่งเมื่อสัมผัสกับพื้นดินแล้วจะเกิดรากเป็นต้นใหม่ เช่น หญ้าแพรก (Bermuda grass)
– ออฟเซทส์ (offsets) หรือ ตะเกียง เป็นลักษณะการเจริญของกิ่งข้างที่เกิดขึ้นจากโคนของลำต้นในพืชบางชนิด ใช้เรียกต้นพืชที่มีลักษณะอ้วนสั้น และมีใบเวียน เช่น สับปะรด อินทผาลัม กล้วย
– ซักเกอร์ (suckers) หรือ หน่อ เป็นกิ่งที่เกิดขึ้นบนต้นใต้ระดับผิวดิน มักเป็นกิ่งที่เกิดขึ้นจากตาประเภท adventitious bud บนราก หรือ บริเวณรอยต่อระหว่างต้นและรากก็ได้ เช่น สับปะรด หน่อไม้ฝรั่ง สนประดิพัทธ์
– คราวน์ (crown) คือ ส่วนของลำต้นที่เกิดขึ้นในแต่ละปีบริเวณตำแหน่งที่อยู่ใกล้ผิวดินของบริเวณรอยต่อระหว่างต้นและรากในพวกไม้เนื้ออ่อนถาวร (herbaceous perennials) และส่วนของต้นแม่จะไม่มีการเจริญเติบโตและแห้งตายไป เช่น อัฟริกันไวโอเล็ต เยอบีร่า
2.3 ใช้ส่วนของลำต้นและรากพิเศษ เป็นส่วนของต้นพืชที่เปลี่ยนไปทำหน้าที่เก็บสะสมอาหาร และเป็นส่วนที่เจริญเติบโตในฤดูกาลต่อไปได้ โดยส่วนอื่นๆ ของต้นจะแห้งตายเมื่อสิ้นสุดการเจริญเติบโต
– บัลบ์ (Bulbs) ประกอบด้วยลำต้นที่สั้นและอวบ มักจะหงายตั้งขึ้น ที่ปลายยอดเป็นจุดเจริญ หรือจุดที่ให้กำเนิดดอกที่ถูกห่อหุ้มด้วยกาบใบสะสมอาหารที่หนา เช่น ลิลี่ กระเทียม หอมหัวใหญ่ หอมแดง
– คอร์ม (corms) คือ ส่วนโคนของต้นพืชที่พองดตออกสะสมอาหาร และห่อหุ้มด้วยกาบ สามารถมองเห็นข้อและปล้องได้ชัดเจน เช่น แห้ว แกลดิโอลัส
– ทิวเบอร์ (tubers) เป็นส่วนของพืชที่สะสมอาหารไว้ มีลักษณะอ้วนอยู่ใต้ระดับผิวดิน อาจเป็นส่วนของต้น เช่น มันฝรั่ง บอนประดับ หรือ ส่วนของราก เช่น กระชาย มันเทศ รักเร่
– ไรโซม (rhizomes) เป็นลำต้นที่มีข้อและปล้องที่มีลักษณะอวบอ้วนหรือผอมบาง และเจริญอยู่ในแนวระดับซึ่งอาจจะอยู่ใต้ผิวดินหรือเจริญอยู่เหนือดินก็ได้ ลำต้นที่อยู่ด้านล่างจะมีส่วนของใบและช่อดอกเจริญขึ้นมาเหนือผิวดิน เช่น หญ้าคา ขิง ปักษาสวรรค์ ธรรมรักษา
วิธีการต่างๆ ในการขยายพันธุ์แบบไม่เกี่ยวกับเพศนี้ สามารถทำได้หลายวิธีตามความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด คือ
- การตัดชำ (cutting) คือ การทำให้ส่วนต่างๆ ของพืชออกรากได้ หลังจากที่ตัดออกจากต้นแม่แล้ว อาจแบ่งออกตามส่วนของพืชที่นำมาชำให้เกิดต้นใหม่ เช่น การปักชำกิ่ง การปักชำใบ และการปักชำราก
ตัวอย่างของพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการตัดชำแบบต่างๆ ได้แก่
– การปักชำกิ่งแก่ เช่น ไผ่ ผกากรอง วาสนา ทับทิม ชบา เฟื่อง
– การปักชำกิ่งแก่กึ่งอ่อน เช่น เล็บครุฑ โกสน ส้ม คริสต์มาส
– การปักชำกิ่งอ่อน หรือกิ่งที่มีสีเขียว เช่น กุหลาบ ยี่โถ ฝรั่ง ชาทอง เข็มเชียงใหม่
– การปักชำกิ่งยอดของไม้พุ่มเนื้ออ่อน เช่น เบญจมาศ คาร์เนชั่น พลูด่าง
ดาดตะกั่ว ฤาษีผสม ไฮเดรนเยีย
– การปักชำแผ่นใบ เช่น ลิ้นมังกร โคมญี่ปุ่น บีโกเนีย ตีนตุ๊กแก คริสต์มาสแคคตัส
– การปักชำแผ่นใบติดก้านใบ เช่น อัฟริกันไวโอเล็ต กล๊อกซิเนีย เพเพอโรเมีย
– การปักชำใบและตา เช่น ยางอินเดีย เบญจมาศ
– การปักชำราก เช่น สาเก สนทะเล ขนุน มะขามป้อม กาสะลอง
- การตอนกิ่ง (layering) คือ การทำให้พืชออกรากขณะยังติดอยู่กับต้นแม่ จึงจะตัดเอากิ่งที่ออกรากแล้วไปชำในวัสดุปลูกให้เกิดรากมากขึ้น แบ่งออกได้หลายวิธีคือ
– การตอนกิ่งแบบอากาศ (air layering) เป็นวิธีการควั่นหรือปาดกิ่ง เพื่อนำเอาส่วนของเปลือกไม้หรือส่วนของท่ออาหาร (phloem) ออก เป็นวิธีการขัดขวางการลำเลียงอาหารที่พืชสังเคราะห์แสงจากใบส่งมาเลี้ยงส่วนต่างๆ ส่วนน้ำและแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตถูกลำเลียงส่งผ่านมาทางท่อน้ำ (xylem) ยังสามารถเกิดขึ้นได้ ทำให้เกิดการสะสมอาหารบริเวณเหนือรอยควั่น มีการแบ่งเซลล์และพัฒนาเป็นรากใหม่ต่อไป เช่น ลำไย ลิ้นจี่ โกสน ชะอม
– การตอนกิ่งแบบ tip layering เป็นวิธีการดึงปลายกิ่งลงมาหาพื้นดินแล้วใช้ดินกลบบริเวณกิ่งบางส่วนปล่อยให้ปลายกิ่งโผล่อยู่เหนือดิน ส่วนที่อยู่ในดินจะเกิดรากและต้น เช่น มะลิ
– การตอนกิ่งแบบ compound or serpentine layering เช่นเดียวกับวิธี simple layering โดยทำการกลบกิ่งและปล่อยให้กิ่งโผล่ขึ้นเหนือจากดินที่กลบไว้เป็นตอนๆ ตามความยาวของกิ่งจะได้ต้นใหม่หลายต้น เป็นวิธีที่ใช้สำหรับการตอนกิ่งพืชที่มีกิ่งยาว และตัดโค้งได้ง่าย เช่น ฟิโลเดนดรอน (philodendron) พลูด่าง ออมเงินออมทอง
– การตอนกิ่งโดยวิธีขุดร่อง (trench layering) เป็นวิธีการโน้มต้นให้เอนหรือตัดกิ่งให้ขนานกับผิวดินแล้วกลบกิ่งนั้นด้วยดิน จะเกิดการเจริญของกิ่งใหม่พร้อมรากตรงโคนกิ่งที่เจริญใหม่ ได้ต้นที่สามารถแยกออกไปปลูกได้
– การตอนกิ่งโดยวิธีสุมโคน (stool layering) จะทำการตัดต้นที่ต้องการตอนให้เหลือสั้นติดกับผิวดินในระยะที่พืชอยู่ในระยะพักตัว แล้วทำการสุมดินรอบๆ โคนกิ่งที่แตกใหม่ เพื่อทำให้เกิดรากที่โคนกิ่งใหม่ นิยมใช้ในการขยายพันธุ์ต้นตอแอปเปิล
- การติดตา (budding) คือ การสอดส่วนของตาจากกิ่งพันธุ์ดี (scion) เพียงตาเดียวลงบนส่วนของพืชอีกต้นหนึ่งที่ปลูกอยู่ (stock plant) ทำให้สามารถเกิดรอยแผลประสานเจริญเป็นต้นพืชต้นเดียวกัน ทำได้หลายวิธี เช่น การติดตาแบบตัวที (T-budding)
- การต่อกิ่ง (grafting) คือ การเปลี่ยนยอดพืชพันธุ์เดิม (stock plant) ให้เป็นพันธุ์ดี โดยนำกิ่งพันธุ์ดี (scion) ที่มีตา 2-4 ตา หรือมากกว่านำมาติดบนต้นตอที่ปลูกอยู่ ทำได้หลายวิธี เช่น การต่อแบบเสียบลิ่ม (Cleft grafting)
- การทาบกิ่ง (approach grafting) คือ การนำต้นพืชสองต้น ซึ่งต่างก็มีรากและยอดอยู่ มาทำการเชื่อมติดให้เป็นต้นเดียวกัน ภายหลังจากรอยเชื่อมต่อกันดีแล้ว จึงทำการตัดยอดต้นตอเหนือรอยต่อ และตัดกิ่งของกิ่งพันธุ์ดีได้รอยต่อ จะได้ต้นใหม่ที่มีส่วนยอดเป็นกิ่งพันธุ์ดี และมีระบบรากเป็นของต้นตอนั้น เช่น วิธีการทาบแบบเสียบ
การขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีจุลภาคในสภาวะปลอดเชื้อ (Aseptic methods of micro-propagation)
การทำให้เกิดต้นใหม่จากชิ้นส่วนต่างๆ หรือเซลล์เนื้อเยื่อของต้นพืช เช่น คัพภะ เมล็ด ต้น ใบ ยอดอ่อน ละอองเกสร โดยนำมาเพาะเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ภายใต้สภาวะปลอดเชื้อ ต้นใหม่ที่ได้จากวิธีการนี้จึงคงลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับชิ้นส่วนที่นำมาเพาะเลี้ยง พืชส่วนใหญ่สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ของพืช สารเคมีที่ใช้ในการเตรียมอาหารสังเคราะห์ และสภาพแวดล้อมทางสรีรวิทยาของส่วนที่นำมาเพาะเลี้ยง เทคนิคต่างๆ ในการปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จได้ ต้องรู้ถึงความต้องการธาตุอาหาร ฮอร์โมนและเทคนิคบางประการในการเพาะเลี้ยงพืชแต่ละชนิดนั้นๆ
แนวทางการใช้ประโยชน์ที่ได้จากการขยายพันธุ์ด้วยวิธีจุลภาค ได้แก่
- การขยายพันธุ์ (clonal propagation) สามารถผลิตได้จำนวนต้นมากในระยะเวลาสั้น
- การผลิตพืชที่ปลอดโรค (disease – free plants) ทำให้ได้สายต้นที่ปลอดเชื้อในปริมาณมาก
- การแลกเปลี่ยนเชื้อพันธุกรรม (germplasm exchange) ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชได้สะดวก ง่าย และไม่มีปัญหาการกักกันพืชจากหน่วยงานที่ดูแล
- การเก็บเชื้อพันธุกรรม (germplasm storage) สามารถทำได้ในพื้นที่ และเสียค่าใช้จ่ายการดูแลรักษาไม่มากนัก และลดการเสี่ยงต่อภัยที่จะทำลายต้นพันธุ์ได้
- การใช้ประโยชน์จาก haploids ได้ต้นใหม่จากการเพาะเลี้ยงละอองเกสรเรณู (pollen culture) ทำให้สามารถขยายจำนวนต้นสายพันธุ์แท้มาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์
- การคัดเลือกต้นที่มีการกลายพันธุ์ทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี เช่น สายพันธุ์ที่ทนทานต่อศัตรูพืชต่างๆ ความทนทานต่อความเค็ม
- การช่วยชีวิตคัพภะ (embryo rescue) ใช้ในการขยายพันธุ์พืชที่คัพภะไม่สามารถเจริญพัฒนาต่อไปเป็นต้นใหม่ได้ จึงนำเอาคัพภะที่ยังมีชีวิตมาเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์เพื่อชักนำให้เจริญเป็นต้นได้
- การผลิตสารเคมีจากเซลล์และเนื้อเยื่อของพืช ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนเซลล์ของพืช (cell culture) ที่มีการสร้างหรือสะสมสารที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ทางเภสัชวิทยา โดยไม่จำเป็นต้องปลูกเลี้ยงจนเป็นต้นพืช
- การปรับปรุงพันธุ์ (crop inprovement) สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน โดยการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ หรือ การนำ protoplast ของเซลล์พืชต่างชนิดกันมารวมเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ แล้วนำมาขยายเพิ่มจำนวนต้นให้มีปริมาณมากต่อไป
บรรณานุกรม
- จวงจันทร์ ดวงพัตรา. 2529. เทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์. กลุ่มหนังสือเกษตร, กรุงเทพฯ.
210 น.
- นันทิยา วรรธนะภูติ. 2542. การขยายพันธุ์พืช. โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าท์, กรุงเทพฯ.
449 น.
- ไพบูลย์ กวินเลิศวัฒนา. 2524. หลักการและวิธีการเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช. มหาวิทยาลัย
เกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 109 น.
- Acquaah, G. 1999. Horticulture : Principle and Practise. Prentice Hall Inc.,
New York. 722 p.
- Copeland, L. O. and M. B. McDonald. 1985. Principles of Seed Science and
Technology. Burgess Publishing Company, U. S. A. 321 p.
- Halfacre, R. G. and J. A. Barden. 1979. Horticulture. McGraw-Hill Book
Company, New York. 722 p.
- Hartmann, H. T., D. E. Kester and F. T. Davies, Jr. (5th ed.) 1990. Plant
Propagation. Principles and Practices. Prentice Hall Inc., U. S. A. 647 p.
- Reiley, H. C. and C. L. Shry. 2002. Introductary Horticulture. Delmar, U. S. A.
564 p.
ขอบคุณที่มา:https://mis.agri.cmu.ac.th › course_lecture_download