โพสยังไงไม่ให้โดนฟ้อง
“รอบครอบสักนิด ก่อนคิดจะโพสต์”
บทความฉบับนี้ เป็นการนำกฎหมายใกล้ตัวมาอธิบายให้ความรู้กัน คือ เรื่องการหมิ่นประมาททางแพ่ง และการละเมิด เนื่องจากในสังคมปัจจุบันของเรานั้นการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ เราสามารถทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น และหากเป็นการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อบนโลกออนไลน์ เรายิ่งต้องควรระมัดระวัง วันนี้เราจะมาให้ความรู้ในเรื่องการหมิ่นประมาททางแพ่ง และการละเมิดกันนะคะ
คำถาม : อยากให้อธิบายถึงการหมิ่นประมาททางแพ่งและการหมิ่นประมาททางอาญา
ทนายปรีชา : การหมิ่นประมาททางแพ่ง เป็นคดีส่วนแพ่ง ซึ่งไม่มีโทษทางอาญา โดยปกติในการฟ้องคดีเกี่ยวข้องตามข้อหานี้ ทนายความจะตั้งเรื่องฟ้องรวมๆกัน เป็น 2 ประเด็น คือ
- 1. การละเมิดทั่วไป คือ เป็นการละเมิดโดยการกระทำนั้นๆ หรือเป็นการใช้สิทธิของตนเกินส่วน หรือเกินสมควรกว่าการใช้สิทธิตามปกติ
- 2. การหมิ่นประมาททางแพ่ง ซึ่งก็เป็นละเมิดอีกส่วนหนึ่ง โดยในส่วนนี้ ตัวบทกฎหมายจะเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นการกล่าว ไขข่าว แพร่หลาย ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง (ความเท็จ) เพราะฉะนั้น ในคดีละเมิดที่เป็นหมิ่นประมาททางแพ่งนั้น จะเป็นความผิดได้ผู้นั้นจะต้องมีการกล่าว หรือเผยแพร่ ข้อความอันเป็นข้อความอันเป็นเท็จนั้นออกไป
แต่สำหรับกรณีประเด็นที่เป็นการละเมิดทั่วไป การที่เราโพสต์ข้อความลงบนสื่อโซเชียล และต่อมามีผู้อื่นได้รับความเสียหายจากการโพสต์ แม้จะเป็นความจริงหรือเท็จก็ตาม ก็อาจเข้าลักษณะเป็นการกระทำละเมิดได้ หากการกระทำดังกล่าวนั้น เข้าลักษณะเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย
ส่วนการฟ้องร้องเป็นคดีความ ทนายความก็จะยื่นฟ้องให้ครอบคลุมไว้ทั้งสองส่วน ทั้งการละเมิดจากการกระทำ หรือหมิ่นประมาททางแพ่ง หากมีข้อเท็จใดข้อเท็จจริงหนึ่งที่เผยแพร่ออกไปเป็นความเท็จ ดังนั้นในทางคดีต้องพิสูจน์ถึงข้อความอันเป็นเท็จนั้นด้วย แต่หากเป็นกรณีการละเมิดทั่วไป เราต้องดูที่เนื้อหาของการกระทำว่าได้มีการจงใจทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายหรือไม่
ส่วนในทางอาญา ก็จะมีข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาเช่นกันครับ หากเป็นความผิด ก็จะได้รับโทษทางอาญาที่กฎหมายบัญญัติไว้ มีทั้งโทษจำคุกและปรับ
การกระทำใดจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทในทางอาญา โดยหลักพิจารณาแล้ว ก็จะดูที่เจตนาและการกระทำของผู้กระทำนั้น ซึ่งจะเน้นไปที่การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ไม่ว่าผู้นั้นจะพูดหรือพิมพ์ข้อความจริงหรือความเท็จก็ตาม ศาลอาจจะไม่พิจารณาข้อความจริงเลยก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญที่ศาลจะพิจารณา จะดูจากเจตนาเป็นอันดับแรกเลยว่า ผู้นั้นมีเจตนาว่าร้ายใส่ความผู้อื่นหรือไม่ และข้อความนั้น เป็นเหตุให้ผู้ผื่นได้รับความเสียหายหรือไม่
คำถาม : อยากให้ทนายปรีชาพูดถึงกรณีของการแสดงความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์ แล้วเกิดการละเมิดหรือหมิ่นประมาททางแพ่งหน่อยค่ะ
ทนายปรีชา : ในคดีหมิ่นประมาททางแพ่งนั้น สำนักงานทนายความของผมเองก็เคยทำคดีละเมิดให้กับลูกความท่านหนึ่งซึ่งเป็น อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คือ ผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล มีผู้ติดตามหลักแสน โดยเขาถูกเจ้าของกิจการใหญ่เจ้าหนึ่งฟ้องในข้อหาละเมิด ทำให้ได้รับความเสียหาย โดยหากผู้ที่โพสต์ข้อความนั้นเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงทางโลกออนไลน์ การโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือการแสดงความคิดเห็น บุคคลคนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงและทราบข้อความเหล่านั้นได้โดยง่ายและรวดเร็ว
ผมจะยกตัวอย่างถึงกรณีของดาราท่านหนึ่งที่มีการลงโพสต์ขอโทษเจ้าของธุรกิจไป คู่กรณีมีการฟ้องกันเป็นคดีแพ่ง โดยคดีดังกล่าวก็มีความคล้ายคลึงกับคดีที่ผมเคยทำ คือ คดีของดาราท่านนี้ เขาโพสต์ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอลงบนสื่อออนไลน์สาธารณะ แล้วมีการกล่าวถึงธุรกิจๆหนึ่ง ซึ่งจากการโพสต์ ส่งผลทำให้ธุรกิจเกิดความเสียหาย จึงเป็นคดีที่มีประเด็นจะต้องพิจารณากว่า การกระทำนั้น เป็นละเมิด และ/หรือหมิ่นประมาททางแพ่งโดยการโฆษณา หรือไม่
อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุด คดีของดาราท่านนี้ ก็จบลงด้วยดี โดยมีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันตามกระบวนการไกล่เกลี่ยของทางศาล และผู้ถูกฟ้องยินยอมลงโฆษณาคำขอโทษในสื่อออนไลน์ของตนเอง
คำถาม : คดีหมิ่นประมาททางแพ่งที่ทนายปรีชาทำ ศาลได้มีคำพิพากษาว่าอย่างไรบ้าง
ทนายปรีชา : ผมเป็นทนายให้กับผู้มีชื่อเสียงในแวดวงสังคมหนึ่ง ซึ่งได้ทำการโพสต์ข้อความลงบนสื่อออนไลน์ เราเป็นฝ่ายจำเลย โดยคดีที่ผมทำนี้ ท้ายที่สุดศาลพิพากษายกฟ้อง ผลคือเราชนะคดี
การกระทำของตัวความไม่เป็นการละเมิด ไม่เป็นการหมิ่นประมาทต่อโจทก์ ข้อเท็จจริงในคดีที่ผมทำ คือ เขาได้ทำการถ่ายรูป และโพสต์ข้อความลงบนสื่อโซเชียลส่วนตัว (ที่มีผู้ติดตามตอนเกิดเหตุราวๆ 80,000 คน) ว่า มีพนักงานกลุ่มหนึ่งในห้างสรรพสินค้า กระทำการชักชวนให้เข้าไปทดลองสินค้าประเภทหนึ่ง ซึ่งทำให้เขาเกิดรู้สึกความเดือดร้อนและรำคาญ และโพสต์เป็นทำนองว่า ถูกฉุด กระชาก ลาก ดึง โดยพนักงานกลุ่มดังกล่าว โดยข้อเท็จจริงในคดี รูปถ่ายที่ลูกความผม ถ่ายลงสื่อโซเชียลนั้น ไม่ปรากฏชื่อทางการค้าของโจทก์ในคดีนี้ครับ คือ ถ้าเราถ่ายรูปภาพ แล้วในรูปภาพนั้นไม่ปรากฏชื่อทางการค้า หรือโลโก้ของคู่กรณี ภาพนั้นก็จะไม่อาจสื่อแสดงถึงการกระทำความผิดได้ครับ การโพสต์ภาพจึงไม่เป็นความผิด อันนี้เป็นในส่วนของภาพถ่ายนะครับ
แต่ในกรณีของข้อความที่โพสต์ หากไม่ได้มีการระบุ เจาะจง ถึงตัวบุคคลใดหรือชื่อทางการค้าโดยตรง กล่าวคือ ถ้าผู้อื่นเข้ามาอ่านเขายังต้องไปค้นหาต่อว่าผู้โพสต์หมายความถึงใคร ต้องไปสืบค้นหาข้อเท็จจริงจากนอกโพสต์ ไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงจากเนื้อความที่โพสต์ เช่นนี้ก็ไม่เป็นความผิด ซึ่งลูกความผม โพสต์ลอยๆ ไม่ได้ระบุชื่อว่า ใคร หรือหน่วยงานใด เป็นคนกระทำการตามที่โพสต์ ศาลฟังว่า กรณีแบบนี้ โจทก์ (อ้างว่าตนได้รับความเสียหาย) จึงไม่ได้รับความเสียหาย
และต่อมาคือตัวผู้ทำการโพสต์ หากผู้โพสต์ไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายด้วยตนเอง แต่กลับไปเอาข้อความ ข้อมูล หรือรูปภาพ มาจากโพสต์ของผู้อื่น เพื่อนำมาโพนทะนา ตำหนิ ใส่ความผู้อื่น เช่นนี้ทำไม่ได้นะครับ
ในกรณีคดีที่ผมทำนั้น ตัวลูกความเขาได้ประสบพบเจอปัญหาดังกล่าวด้วยตนเอง แล้วเขารู้สึกว่าการกระทำที่พบเจอ คือ ถูกดึงให้เข้าไปทดลองสินค้าบางอย่างนั้น มันทำให้การเดินในห้างสรรพสินค้าเกิดความน่ารำคาญและเดือดร้อน อันเป็นการโพสต์ที่เข้าลักษณะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นไปตามปกติวิสัยของคนทั่วไป ซึ่งศาลในคดีดังกล่าว ก็วินิจฉัยในข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่าว่า จำเลยนั้นได้พบเจอปัญหาด้วยตนเองจริง การโพสต์ไม่ระบุชื่อ ภาพถ่ายไม่ปรากฏเครื่องหมายทางการค้า หรือชื่อของโจทก์หรือคู่กรณี อีกทั้งการโพสต์ของตัวลูกความผมเอง ก็เป็นการโพสต์ในเชิงของการติเตียน เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตในการวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่เราพบเจอด้วยตนเอง เช่นนี้สามารถทำได้
แต่อย่างไรก็ตาม พึงระมัดระวังไว้ว่า หากไปวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ตนเองไม่ได้พบเจอหรือได้รับความเดือดร้อนด้วยตนเอง อาจจะเข้าลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทในทางแพ่งหรือละเมิดได้ครับ
คำถาม : เรามีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์สินค้าที่เราอุปโภค บริโภคได้หรือไม่ หากเราแสดงความคิดเห็นออกไปจะเป็นการหมิ่นประมาททางแพ่งหรือไม่
ทนายปรีชา : ถ้าเป็นการกล่าวถึงปัญหาของการซื้อสินค้าที่เราอุปโภค บริโภคด้วยตัวเอง แล้วสินค้าดังกล่าวด้อยคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน ประชาชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่ตนเองได้ซื้อและใช้เอง
คำถาม : แล้วเราสามารถกล่าวระบุถึงตัวผลิตภัณฑ์นั้นได้หรือไม่
ทนายปรีชา : ระบุได้ครับ ถ้าเราซื้อสินค้านั้นมาใช้เอง แต่ข้อสำคัญ คือ การวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะต้องไม่มีเจตนาที่จะจงใจละเมิดเขาด้วย
ในจุดนี้ก็ควรจะต้องระมัดระวังเช่นกันครับ การที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องใด ต้องพิจารณาว่าเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนหรือไม่ ยิ่งหากเราเป็นผู้มีชื่อเสียงมีผู้ติดตามบนสื่อโซเชียลเป็นจำนวนมาก อาจจะไปกระทบสิทธิของบุคคลอื่นได้เช่นกัน (ศาลอาจฟังว่าเรามีเจตนาชี้นำให้คนอื่นเชื่อว่าสินค้าไม่ดี)
ก็ขอฝากไว้เป็นแง่คิด ไว้เตือนสติเราว่า
…“รอบครอบสักนิด ก่อนคิดจะโพสต์”
บทความโดย
ทนายปรีชา หยกทองวัฒนา
บริษัท เอสพีแอลเอ ลอว์ จำกัด
โทร. 096-826-3935
ที่มา:law.hisp.com/โพสยังไงไม่ให้โดนฟ้อง
อ่านบทความทั้งหมด >>> pangpond.com
บทความแนะนำ หมวดหมู่: ไลฟ์สไตล์
จำนวนคอมเมนต์ของโพสต์ ID 172910: 629