การขยายพันธุ์พืช

การขยายพันธุ์พืชคืออะไร อาศัยเพศเมล็ดรู้ก่อนจะไม่พลาด 10?

Click to rate this post!
[Total: 264 Average: 5]

การขยายพันธุ์พืช

(PLANT PROPAGATION)

          พรรณพืชดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงทุกวันนี้ ด้วยการสืบพันธุ์เกิดลูกหลานมีชีวิตสืบต่อกันมา การสืบพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจึงทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นๆ เพิ่มจำนวนหรือคงรักษาจำนวนไว้ได้ เมื่อมนุษย์มีการนำพรรณพืชมาใช้ประโยชน์มากขึ้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนให้เพียงพอกับความต้องการด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อผลิตพืชพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกต่อไป ดังนั้นการขยายพันธุ์พืชจึงมีจุดมุ่งหมายอยู่ 2 ประการที่สำคัญคือ เพิ่มปริมาณพันธุ์พืชที่ใช้ในการเพาะปลูกให้เพียงพอและดำรงรักษาพันธุ์พืชที่ต้องการนั้นไว้ ซึ่งจะได้มาจากธรรมชาติหรือจากการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมา

ความหมายและความสำคัญของการขยายพันธุ์พืช

ความหมายของการขยายพันธุ์พืช (plant propagation) ในทางการเกษตรนั้น หมายถึง การเพิ่มปริมาณให้ต้นพืชมีจำนวนมากขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อคงลักษณะพันธุ์ที่ต้องการไว้ให้ได้ปริมาณมากอย่างรวดเร็ว มีผลตอบแทนสูงและดำรงรักษาเผ่าพันธุ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ มีลักษณะทางพันธุกรรมของพ่อแม่ไว้ตรงตามพันธุ์ สามารถกระทำได้หลายวิธีการโดยมนุษย์เป็นผู้กระทำขึ้น งานขยายพันธุ์พืชจึงมีบทบาทสำคัญกับงานทางด้านพืชสวนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตต้นพันธุ์สำหรับใช้ปลูก สามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพทางด้านการขยายพรรณไม้จำหน่าย ทำรายได้ในระยะเวลาสั้น ไม่ต้องลงทุนมากและเสียเวลาปลูกจนผลผลิตถึงระยะเก็บเกี่ยว

                        นักขยายพันธุ์พืชจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ของพืช (science of propagation) ซึ่งได้มาจากพื้นฐานของวิชาการหลายด้านในการเข้าใจธรรมชาติของพืช การเจริญเติบโต การสืบพันธุ์และอื่นๆ อีกหลายวิชา รู้จักวิธีการปฏิบัติให้ได้ผลสำเร็จต้องอาศัยหลักการทางด้านศิลปะของการขยายพันธุ์ (art of propagation) ทั้งทักษะการทำงานและประสบการณ์มาประกอบกันด้วย นอกจากนั้นสิ่งที่จำเป็นอีกประการหนึ่ง คือ ต้องรู้จักชนิดของพืชให้มากที่สุด จึงจะสามารถเลือกใช้วิธีการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมและให้ผลสำเร็จสูง

                        หลักการขยายพันธุ์พืชสามารถปฏิบัติได้ 2 แบบ คือ แบบอาศัยเพศ (sexual propagation) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมารวมตัวกันของเซลล์สืบพันธุ์ จึงมีทั้งโอกาสที่จะได้ลักษณะผันแปรที่ดีขึ้นกว่าพ่อแม่หรือด้อยลงกว่าลักษณะเดิมก็ได้ จึงเป็นวิธีการที่ได้มาจากการใช้เมล็ด และแบบไม่อาศัย (asexual propagation) ด้วยวิธีการชักนำให้เกิดเป็นต้นใหม่จากส่วนต่างๆ ของ    ลำต้น จึงยังคงลักษณะเหมือนกับต้นที่นำมาขยายพันธุ์

การขยายพันธุ์พืชที่เกี่ยวกับการใช้เพศ

            ส่วนประกอบที่สำคัญของเมล็ด จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

  1. เปลือกหุ้มเมล็ด (seed coat) ทำหน้าที่ในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับส่วนที่อยู่ภายในเมล็ดและควบคุมให้เมล็ดสามารถงอกได้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญ  เติบโตของพืชนั้นๆ
  2. อาหารสะสม (endosperm) เป็นแหล่งสะสมอาหารไว้ให้ต้นกล้าสามารถเจริญเติบโตได้ในระยะแรก เมล็ดที่มีอาหารสะสมไว้มากกว่าจะทำให้เมล็ดนั้นมีความแข็งแรง และให้เปอร์เซ็นต์การงอกสูงกว่า พืชบางชนิดเก็บอาหารไว้ในใบเลี้ยงของคัพภะด้วย
  3. คัพภะ (embryo) เป็นส่วนสำคัญที่สุดของเมล็ดที่จะพัฒนาไปเป็นส่วนต่างๆ ของต้นพืช

            เมล็ดพืชทุกชนิดจะประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังกล่าวเช่นเดียวกัน แต่รูปร่างของเมล็ดพืชแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบภายในและภายนอกของเมล็ด ทำให้เมล็ดสามารถแพร่กระจายไปตามสถานที่ต่างๆ และมีความสามารถงอกได้แตกต่างกัน เช่น เมล็ดกล้วยไม้ มีส่วนของอาหารสะสมในเมล็ดน้อยมาก เมล็ดมีขนาดเล็ก งอกได้ไม่ดีในสภาพธรรมชาติ จึงควรนำมาเพาะบนอาหารสังเคราะห์จะได้ต้นกล้าจำนวนมาก

            การงอกของเมล็ดพืชโดยทั่วไปนั้นจะเกิดได้ดี เมล็ดต้องมีความพร้อมทางสรีรวิทยาแล้ว ยังจะต้องไม่มีปัจจัยอื่นมายับยั้งการงอกของเมล็ดด้วย เช่น เปลือกของเมล็ด สารยับยั้งการงอกที่ห่อหุ้มอยู่ที่เปลือกเมล็ด เป็นต้น ดังนั้นเมล็ดที่นำมาใช้เพาะขยายพันธุ์ต้องเป็นเมล็ดที่มีชีวิต เมล็ดสามารถงอกได้พ้นจากการพักตัวแล้ว และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการงอกด้วย

            เมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐานวางจำหน่ายตามท้องตลาดจะต้องผ่านขั้นตอนการรับรอง      คุณภาพของเมล็ดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์มาแล้ว    คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ (seed quality) ที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  1. ตรงตามพันธุ์ (true to type) เป็นเมล็ดที่ได้ผ่านการรับรองว่าถูกต้องตามพันธุ์ โดยไม่มีเมล็ดพันธุ์อื่นๆ ปะปนมาด้วย
  2. ปราศจากสิ่งเจือปน (purity) มีความบริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งเจือปน เช่น ฝุ่น เมล็ดพืช และเศษวัสดุอื่นๆ
  3. มีความงอกสูง (high germination) เมล็ดมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของพืช เช่น ตั้งแต่ 40-98 เปอร์เซ็นต์
  1. ปราศจากโรคและแมลงและส่วนขยายพันธุ์ของศัตรูพืช

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดนั้น จะต้องประกอบด้วย

  1. ความชื้นหรือน้ำ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการงอกของเมล็ด ทำให้ส่วนของเปลือกที่ห่อหุ้มเมล็ดอยู่นั้นอ่อนตัวและยอมให้น้ำและอากาศผ่านเข้าออกในเมล็ดได้ ทำให้การทำงานของเอนไซม์และขบวนการต่างๆ ภายในเซลล์เกิดขึ้น และมีส่วนในการลำเลียงอาหารไปยังจุดเจริญ (growing point) เกิดการแบ่งเซลล์เจริญเป็นต้นกล้า (seedling) เมล็ดพืชแต่ละชนิดต้องการความชื้นในการงอกของเมล็ดในระดับต่างๆ กันไป ตั้งแต่ใกล้จุดเหี่ยวถาวร (permanent wilting point) จนถึงจุดอิ่มตัวของความชื้นในดิน (field capacity) การเตรียมดินหรือวัสดุเพาะจะเป็นการช่วยปรับปรุงโครงสร้างของอนุภาควัสดุเพาะให้เหมาะสมกับเมล็ดในการดูดซึมน้ำ เมล็ดที่มีขนาดเล็กจึงต้องมีการเตรียมดินที่พิถีพิถันว่าเมล็ดที่มีขนาดใหญ่
  2. อุณหภูมิ มีความสัมพันธ์กับการดูดซึมน้ำของเมล็ด และกระตุ้นขบวนการเมตา-โบลิซึ่ม (metabolism) ต่างๆ ภายในเมล็ด ทำให้เกิดการสร้างและเผาผลาญอาหารภายในเมล็ดพืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคที่แตกต่างกัน จะมีความต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสมในการงอก     แตกต่างกันด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสมในการงอกของพืชส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส
  3. ออกซิเจน เซลล์ของสิ่งมีชีวิตต้องหายใจเพื่อสลายอาหารที่สะสมไว้มาใช้ใน     ขบวนการเจริญเติบโตและการงอกของเมล็ด เมล็ดพืชแต่ละชนิดมีความต้องการปริมาณออกซิเจนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอาหารที่สะสมอยู่ในเมล็ดนั้น เมล็ดที่มีไขมัน (fat) สะสมอยู่มาก เช่น    เมล็ดถั่วเหลือง ทานตะวัน ต้องการใช้ออกซิเจนในการงอกของเมล็ด มากกว่าเมล็ดที่มีแป้งเป็นอาหารสะสม ดังนั้นสภาพที่เมล็ดถูกฝังลึกหรือดินในแปลงเพาะเป็นดินเหนียวที่มีน้ำขังแฉะ จึงทำให้การงอกของเมล็ดช้ากว่าปกติหรือเมล็ดอาจตายได้
  4. แสง อาจจะมีส่วนช่วยในการงอกหรือยับยั้งการงอกของเมล็ดได้ ส่วนของเมล็ดที่รับรู้หรือตอบสนองต่อความยาวคลื่นแสงในการงอกนั้นได้แก่ รงควัตถุที่พบอยู่ในเปลือกหุ้มเมล็ด (seed coat) ใบเลี้ยง (cotyledon) และคัพภะ (embryo) การกลบเมล็ดด้วยวัสดุเพาะ จึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมตามชนิดของเมล็ดพืชที่ต้องการแสงในการงอกของเมล็ดด้วย

            เทคนิคอื่นๆ ในการเพาะเมล็ดที่ช่วยให้เมล็ดสามารถงอกได้ สามารถปฏิบัติด้วยวิธีการต่างๆ ต่อเมล็ด เช่น การทำลายการพักตัวของเมล็ดด้วยวิธีกล การแช่ด้วยน้ำและสารเคมี ความร้อน ความเย็น เป็นต้น วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้เมล็ดสามารถงอกได้ในระยะเวลาที่เร็วกว่าปกติ จึงมีเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดสูง และลดอัตราการเสี่ยงต่อการสูญเสียเมล็ดพันธุ์ไป

            วิธีการเพาะเมล็ด สามารถทำได้หลายวิธีคือ

  1. การเพาะเมล็ดในแปลง นิยมใช้ในกรณีที่ต้องการต้นกล้าจำนวนมาก ไม่ต้องการความปราณีตมากนัก เมล็ดพันธุ์มีราคาไม่แพงหรือต้นกล้านั้นไม่ต้องการการย้ายปลูกหรืออาจจะชะงักงันจากการย้ายปลูกได้ การเพาะเมล็ดสามารถปฏิบัติได้ 3 วิธี คือ

            – การเพาะเมล็ดเป็นหลุม โดยวิธีการหยอดเมล็ดลงในหลุมที่ทำการเตรียมดินและ

กะระยะปลูกตามต้องการไว้แล้ว อาจใช้เครื่องมือทุ่นแรงช่วยในการหยอดเมล็ดจำนวนเมล็ดที่ใช้ต่อหลุมจะชึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ด และสภาพกรดูแลเอาใจใส่ เช่น ผักกาดหัว     ข้าวโพดหวาน

                        – การเพาะเมล็ดเป็นแถว โดยการโรยเมล็ดเป็นแถวตามแนวบนแปลงที่ได้เตรียมดินไว้แล้วตามระยะห่างระหว่างแถวที่กำหนด สามารถทำให้สะดวกในการปฏิบัติงาน ขณะทำการย้ายต้นกล้า หรือ การถอนแยกต้นที่ไม่แข็งแรงออกให้ได้ระยะระหว่างต้นตามต้องการ เช่น ผักบุ้ง แครอท

                        – การเพาะเมล็ดโดยวิธีการหว่าน เป็นวิธีการหว่านเมล็ดลงในพื้นที่ที่ได้เตรียมดินแล้ว นิยมทำกันในการปลูกผักกินใบบนแปลงที่ยกร่อง เช่น คะน้า ผักกาดจ้อน ปวยเหล็ง และคลุมดินรักษาความชื้นไว้โดยใช้วัสดุคลุมดิน เช่น ฟางข้าว แกลบ เป็นต้น

  1. การเพาะเมล็ดในวัสดุเพาะ เป็นวิธีที่นิยมใช้กับเมล็ดพืชที่มีราคาแพง หายาก ต้องการการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดในระยะต้นกล้า เหมาะกับพืชที่ต้องการการย้ายปลูก สามารถกำหนดระยะเวลาปลูกได้ตามต้องการ และสามารถปลูกซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้ เช่น ดาวเรือง มะเขือเทศ พริก

            วัสดุเพาะเมล็ดที่เหมาะสมในการเลือกใช้ ควรเป็นวัสดุที่ระบายน้ำได้ดี เก็บความชื้นได้เหมาะสม โปร่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี มีน้ำหนักเบา สะอาดปราศจากโรคและแมลง   หาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยนำวัสดุเพาะมาผสมคลุกเคล้าเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติให้เหมาะสมตามต้องการ        ตัวอย่างวัสดุเพาะที่นิยมใช้กันได้แก่ ทรายผสมขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1 : 1 โดยปริมาตร ถ้าเป็นเมล็ดที่เป็นขนาดเล็กมากควรร่อนวัสดุเพาะที่เป็นส่วนผสมของทราย : ดิน : ปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราส่วน 1 : 1 : 1 โดยปริมาตร เมล็ดพืชทั่วไปนั้นสามารถใช้อาหารสะสมภายในเมล็ดที่มีอย่าง     เพียงพอในการเจริญเติบโตในระยะแรกก่อนที่จะทำการย้ายปลูกต่อไป ส่วนผสมของแร่ธาตุอาหาร

ในวัสดุเพาะจะมีความจำเป็นกับเมล็ดที่มีอาหารสะสมอยู่น้อย หรือเมล็ดที่ใช้ระยะเวลาอยู่ในวัสดุเพาะเป็นเวลานาน ภาชนะที่ใช้สำหรับเพาะเมล็ดสามารถเลือกใช้ตามความสะดวกในการปฏิบัติงาน เช่น ตะกร้าพลาสติก กระถาง ถุงพลาสติก ลังไม้ กระบะ เป็นต้น

การขยายพันธุ์พืชแบบไม่อาศัยเพศ (asexual propagation)

            เป็นวิธีการขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนต่างๆ ของต้นพืช ในแต่ละส่วนของพืชนั้นได้มาจากการแบ่งเซลล์ของจุดเจริญ และพัฒนาไปทำหน้าที่ต่างๆ กันทางกิ่งก้าน (vegetative parts) ขบวนการแบ่งเซลล์ที่เกิดขึ้นนี้จะคงลักษณะทางพันธุกรรมไว้ การแบ่งเซลล์ของพืชนั้นจะพบอยู่ใน 3 ส่วนด้วยกัน คือ บริเวณปลายยอด บริเวณปลายราก และจากส่วนของเนื้อเยื่อเจริญที่อยู่รอบลำต้น (cambium cell)

            นอกจากนั้นแล้วเซลล์พืชบนส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นพืชยังสามารถเปลี่ยนไปเป็นจุดเจริญ (meristematic cell) และพัฒนาต่อไปเป็นยอดหรือรากได้ เรียกปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า “dedifferentiation” และเซลล์ที่มีชีวิตทุกเซลล์มีข้อมูลทางพันธุกรรมที่จำเป็นสำหรับสร้างส่วนต่างๆ ทั้งหมดของพืชได้ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “totipotency” จึงทำให้สามารถนำเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช มาทำให้เกิดเป็นต้นพืชต้นใหม่และใช้ในการขยายพันธุ์ต่อไปได้

            ส่วนประกอบต่างๆ ของพืชที่สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้นั้น ได้แก่

  1. ราก (root) สามารนำไปตัดแบ่งก่อนนำไปชำ เพื่อทำให้เกิดตาและรากขึ้นใหม่ เช่น สาเก มันเทศ มะขามป้อม กาสะลอง ฝรั่ง
  2. ลำต้น (stem) โดยนำส่วนของกิ่งก้านของลำต้นมาปักชำหรือโดยการตอนกิ่ง สามารถแบ่งส่วนของลำต้นที่นำมาใช้ได้ 3 แบบ

2.1 ใช้ส่วนของลำต้นจริง เช่น กุหลาบ ชบา เล็บครุฑ วาสนา ไผ่
2.2 ใช้ส่วนของลำต้นที่เปลี่ยนรูปไป สามารถแยกส่วนออกมาขยายพันธุ์ได้ง่ายตามธรรมชาติ เช่น

                                    – รันเนอร์ (runners) คือ ต้นพิเศษชนิดหนึ่งที่เจริญออกมาจากข้อที่อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างต้นและรากของพืชบางชนิดที่เจริญอยู่ในแนวระดับผิวดินและเกิดเป็นต้นใหม่ เช่น สตรอเบอรี่

                                    – สโตลอนส์ (stolons) คือ ยอดที่เจริญขึ้นชนิดหนึ่งเมื่อสัมผัสกับพื้นดินแล้วจะเกิดรากเป็นต้นใหม่ เช่น หญ้าแพรก (Bermuda grass)

                                    – ออฟเซทส์ (offsets) หรือ ตะเกียง เป็นลักษณะการเจริญของกิ่งข้างที่เกิดขึ้นจากโคนของลำต้นในพืชบางชนิด ใช้เรียกต้นพืชที่มีลักษณะอ้วนสั้น และมีใบเวียน เช่น สับปะรด อินทผาลัม กล้วย

                                    – ซักเกอร์ (suckers) หรือ หน่อ เป็นกิ่งที่เกิดขึ้นบนต้นใต้ระดับผิวดิน มักเป็นกิ่งที่เกิดขึ้นจากตาประเภท adventitious bud บนราก  หรือ บริเวณรอยต่อระหว่างต้นและรากก็ได้ เช่น สับปะรด หน่อไม้ฝรั่ง สนประดิพัทธ์

                                    – คราวน์ (crown) คือ ส่วนของลำต้นที่เกิดขึ้นในแต่ละปีบริเวณตำแหน่งที่อยู่ใกล้ผิวดินของบริเวณรอยต่อระหว่างต้นและรากในพวกไม้เนื้ออ่อนถาวร (herbaceous perennials) และส่วนของต้นแม่จะไม่มีการเจริญเติบโตและแห้งตายไป เช่น อัฟริกันไวโอเล็ต    เยอบีร่า

2.3 ใช้ส่วนของลำต้นและรากพิเศษ เป็นส่วนของต้นพืชที่เปลี่ยนไปทำหน้าที่เก็บสะสมอาหาร และเป็นส่วนที่เจริญเติบโตในฤดูกาลต่อไปได้ โดยส่วนอื่นๆ ของต้นจะแห้งตายเมื่อสิ้นสุดการเจริญเติบโต

                                    – บัลบ์ (Bulbs) ประกอบด้วยลำต้นที่สั้นและอวบ มักจะหงายตั้งขึ้น ที่ปลายยอดเป็นจุดเจริญ หรือจุดที่ให้กำเนิดดอกที่ถูกห่อหุ้มด้วยกาบใบสะสมอาหารที่หนา เช่น ลิลี่ กระเทียม หอมหัวใหญ่ หอมแดง

                                    – คอร์ม (corms) คือ ส่วนโคนของต้นพืชที่พองดตออกสะสมอาหาร และห่อหุ้มด้วยกาบ สามารถมองเห็นข้อและปล้องได้ชัดเจน เช่น แห้ว แกลดิโอลัส

                                    – ทิวเบอร์ (tubers) เป็นส่วนของพืชที่สะสมอาหารไว้ มีลักษณะอ้วนอยู่ใต้ระดับผิวดิน อาจเป็นส่วนของต้น เช่น มันฝรั่ง บอนประดับ หรือ ส่วนของราก เช่น กระชาย มันเทศ รักเร่

                                    – ไรโซม (rhizomes) เป็นลำต้นที่มีข้อและปล้องที่มีลักษณะอวบอ้วนหรือผอมบาง และเจริญอยู่ในแนวระดับซึ่งอาจจะอยู่ใต้ผิวดินหรือเจริญอยู่เหนือดินก็ได้ ลำต้นที่อยู่ด้านล่างจะมีส่วนของใบและช่อดอกเจริญขึ้นมาเหนือผิวดิน เช่น หญ้าคา ขิง ปักษาสวรรค์     ธรรมรักษา

            วิธีการต่างๆ ในการขยายพันธุ์แบบไม่เกี่ยวกับเพศนี้ สามารถทำได้หลายวิธีตามความเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด คือ

  1. การตัดชำ (cutting) คือ การทำให้ส่วนต่างๆ ของพืชออกรากได้ หลังจากที่ตัดออกจากต้นแม่แล้ว อาจแบ่งออกตามส่วนของพืชที่นำมาชำให้เกิดต้นใหม่ เช่น การปักชำกิ่ง การปักชำใบ และการปักชำราก

            ตัวอย่างของพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการตัดชำแบบต่างๆ ได้แก่

            – การปักชำกิ่งแก่ เช่น ไผ่ ผกากรอง วาสนา ทับทิม ชบา เฟื่อง

                        – การปักชำกิ่งแก่กึ่งอ่อน เช่น เล็บครุฑ โกสน ส้ม คริสต์มาส

                        – การปักชำกิ่งอ่อน หรือกิ่งที่มีสีเขียว เช่น กุหลาบ ยี่โถ ฝรั่ง ชาทอง เข็มเชียงใหม่

                        – การปักชำกิ่งยอดของไม้พุ่มเนื้ออ่อน เช่น เบญจมาศ คาร์เนชั่น พลูด่าง

                           ดาดตะกั่ว ฤาษีผสม ไฮเดรนเยีย

                        – การปักชำแผ่นใบ เช่น ลิ้นมังกร โคมญี่ปุ่น บีโกเนีย ตีนตุ๊กแก คริสต์มาสแคคตัส

                        – การปักชำแผ่นใบติดก้านใบ เช่น อัฟริกันไวโอเล็ต กล๊อกซิเนีย เพเพอโรเมีย

                        – การปักชำใบและตา เช่น ยางอินเดีย เบญจมาศ

                        – การปักชำราก เช่น สาเก สนทะเล ขนุน มะขามป้อม กาสะลอง

  1. การตอนกิ่ง (layering) คือ การทำให้พืชออกรากขณะยังติดอยู่กับต้นแม่ จึงจะตัดเอากิ่งที่ออกรากแล้วไปชำในวัสดุปลูกให้เกิดรากมากขึ้น แบ่งออกได้หลายวิธีคือ

                        – การตอนกิ่งแบบอากาศ (air layering) เป็นวิธีการควั่นหรือปาดกิ่ง เพื่อนำเอาส่วนของเปลือกไม้หรือส่วนของท่ออาหาร (phloem) ออก เป็นวิธีการขัดขวางการลำเลียงอาหารที่พืชสังเคราะห์แสงจากใบส่งมาเลี้ยงส่วนต่างๆ ส่วนน้ำและแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตถูกลำเลียงส่งผ่านมาทางท่อน้ำ (xylem) ยังสามารถเกิดขึ้นได้ ทำให้เกิดการสะสมอาหารบริเวณเหนือรอยควั่น มีการแบ่งเซลล์และพัฒนาเป็นรากใหม่ต่อไป เช่น ลำไย ลิ้นจี่ โกสน ชะอม

                        – การตอนกิ่งแบบ tip layering เป็นวิธีการดึงปลายกิ่งลงมาหาพื้นดินแล้วใช้ดินกลบบริเวณกิ่งบางส่วนปล่อยให้ปลายกิ่งโผล่อยู่เหนือดิน ส่วนที่อยู่ในดินจะเกิดรากและต้น เช่น มะลิ

                        – การตอนกิ่งแบบ compound or serpentine layering เช่นเดียวกับวิธี simple layering โดยทำการกลบกิ่งและปล่อยให้กิ่งโผล่ขึ้นเหนือจากดินที่กลบไว้เป็นตอนๆ ตามความยาวของกิ่งจะได้ต้นใหม่หลายต้น เป็นวิธีที่ใช้สำหรับการตอนกิ่งพืชที่มีกิ่งยาว และตัดโค้งได้ง่าย เช่น  ฟิโลเดนดรอน (philodendron) พลูด่าง ออมเงินออมทอง

                        – การตอนกิ่งโดยวิธีขุดร่อง (trench layering) เป็นวิธีการโน้มต้นให้เอนหรือตัดกิ่งให้ขนานกับผิวดินแล้วกลบกิ่งนั้นด้วยดิน จะเกิดการเจริญของกิ่งใหม่พร้อมรากตรงโคนกิ่งที่เจริญใหม่  ได้ต้นที่สามารถแยกออกไปปลูกได้

                        – การตอนกิ่งโดยวิธีสุมโคน (stool layering) จะทำการตัดต้นที่ต้องการตอนให้เหลือสั้นติดกับผิวดินในระยะที่พืชอยู่ในระยะพักตัว แล้วทำการสุมดินรอบๆ โคนกิ่งที่แตกใหม่ เพื่อทำให้เกิดรากที่โคนกิ่งใหม่ นิยมใช้ในการขยายพันธุ์ต้นตอแอปเปิล

  1. การติดตา (budding) คือ การสอดส่วนของตาจากกิ่งพันธุ์ดี (scion) เพียงตาเดียวลงบนส่วนของพืชอีกต้นหนึ่งที่ปลูกอยู่ (stock plant) ทำให้สามารถเกิดรอยแผลประสานเจริญเป็นต้นพืชต้นเดียวกัน ทำได้หลายวิธี เช่น การติดตาแบบตัวที (T-budding)
  2. การต่อกิ่ง (grafting) คือ การเปลี่ยนยอดพืชพันธุ์เดิม (stock plant) ให้เป็นพันธุ์ดี โดยนำกิ่งพันธุ์ดี (scion) ที่มีตา 2-4 ตา หรือมากกว่านำมาติดบนต้นตอที่ปลูกอยู่ ทำได้หลายวิธี เช่น การต่อแบบเสียบลิ่ม (Cleft grafting)
  3. การทาบกิ่ง (approach grafting) คือ การนำต้นพืชสองต้น ซึ่งต่างก็มีรากและยอดอยู่ มาทำการเชื่อมติดให้เป็นต้นเดียวกัน ภายหลังจากรอยเชื่อมต่อกันดีแล้ว จึงทำการตัดยอดต้นตอเหนือรอยต่อ และตัดกิ่งของกิ่งพันธุ์ดีได้รอยต่อ จะได้ต้นใหม่ที่มีส่วนยอดเป็นกิ่งพันธุ์ดี และมีระบบรากเป็นของต้นตอนั้น เช่น วิธีการทาบแบบเสียบ

การขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีจุลภาคในสภาวะปลอดเชื้อ (Aseptic methods of micro-propagation)

            การทำให้เกิดต้นใหม่จากชิ้นส่วนต่างๆ หรือเซลล์เนื้อเยื่อของต้นพืช เช่น คัพภะ เมล็ด ต้น ใบ ยอดอ่อน ละอองเกสร โดยนำมาเพาะเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ภายใต้สภาวะปลอดเชื้อ ต้นใหม่ที่ได้จากวิธีการนี้จึงคงลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับชิ้นส่วนที่นำมาเพาะเลี้ยง พืชส่วนใหญ่สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ของพืช สารเคมีที่ใช้ในการเตรียมอาหารสังเคราะห์ และสภาพแวดล้อมทางสรีรวิทยาของส่วนที่นำมาเพาะเลี้ยง เทคนิคต่างๆ ในการปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จได้ ต้องรู้ถึงความต้องการธาตุอาหาร ฮอร์โมนและเทคนิคบางประการในการเพาะเลี้ยงพืชแต่ละชนิดนั้นๆ

            แนวทางการใช้ประโยชน์ที่ได้จากการขยายพันธุ์ด้วยวิธีจุลภาค ได้แก่

  1. การขยายพันธุ์ (clonal propagation) สามารถผลิตได้จำนวนต้นมากในระยะเวลาสั้น
  2. การผลิตพืชที่ปลอดโรค (disease – free plants) ทำให้ได้สายต้นที่ปลอดเชื้อในปริมาณมาก
  3. การแลกเปลี่ยนเชื้อพันธุกรรม (germplasm exchange) ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชได้สะดวก ง่าย และไม่มีปัญหาการกักกันพืชจากหน่วยงานที่ดูแล
  4. การเก็บเชื้อพันธุกรรม (germplasm storage) สามารถทำได้ในพื้นที่ และเสียค่าใช้จ่ายการดูแลรักษาไม่มากนัก และลดการเสี่ยงต่อภัยที่จะทำลายต้นพันธุ์ได้
  5. การใช้ประโยชน์จาก haploids ได้ต้นใหม่จากการเพาะเลี้ยงละอองเกสรเรณู (pollen culture) ทำให้สามารถขยายจำนวนต้นสายพันธุ์แท้มาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์
  6. การคัดเลือกต้นที่มีการกลายพันธุ์ทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี เช่น สายพันธุ์ที่ทนทานต่อศัตรูพืชต่างๆ ความทนทานต่อความเค็ม
  7. การช่วยชีวิตคัพภะ (embryo rescue) ใช้ในการขยายพันธุ์พืชที่คัพภะไม่สามารถเจริญพัฒนาต่อไปเป็นต้นใหม่ได้ จึงนำเอาคัพภะที่ยังมีชีวิตมาเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์เพื่อชักนำให้เจริญเป็นต้นได้
  8. การผลิตสารเคมีจากเซลล์และเนื้อเยื่อของพืช ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนเซลล์ของพืช (cell culture) ที่มีการสร้างหรือสะสมสารที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ทางเภสัชวิทยา โดยไม่จำเป็นต้องปลูกเลี้ยงจนเป็นต้นพืช
  9. การปรับปรุงพันธุ์ (crop inprovement) สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน โดยการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ หรือ การนำ protoplast ของเซลล์พืชต่างชนิดกันมารวมเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ แล้วนำมาขยายเพิ่มจำนวนต้นให้มีปริมาณมากต่อไป

บรรณานุกรม

  1. จวงจันทร์ ดวงพัตรา. 2529.  เทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์.  กลุ่มหนังสือเกษตร, กรุงเทพฯ.

                        210 น.

  1. นันทิยา วรรธนะภูติ. 2542.  การขยายพันธุ์พืช. โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าท์, กรุงเทพฯ.

                        449 น.

  1. ไพบูลย์ กวินเลิศวัฒนา. 2524.  หลักการและวิธีการเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช.  มหาวิทยาลัย

                        เกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.  109 น.

  1. Acquaah, G. 1999.  Horticulture : Principle and Practise.  Prentice Hall Inc.,

            New York.  722 p.

  1. Copeland, L. O. and M. B. McDonald. 1985.  Principles of Seed Science and

            Technology.  Burgess Publishing Company, U. S. A.  321 p.

  1. Halfacre, R. G. and J. A. Barden. 1979.  Horticulture. McGraw-Hill Book

                        Company, New York.  722 p.

  1. Hartmann, H. T., D. E. Kester and F. T. Davies, Jr. (5th ed.) 1990. Plant

                        Propagation.  Principles and Practices.  Prentice Hall Inc., U. S. A. 647 p.

  1. Reiley, H. C. and C. L. Shry. 2002.  Introductary Horticulture.  Delmar, U. S. A.

                        564 p.

ขอบคุณที่มา:https://mis.agri.cmu.ac.th › course_lecture_download

อ่านบทความทั้งหมด >>> pangpond.com

บทความแนะนำ หมวดหมู่: ไลฟ์สไตล์
จำนวนคอมเมนต์ของโพสต์ ID 192167: 1544