msds
msds คือ
Safety Data Sheet (SDS) หรือในบางครั้งเรียกว่า Material Safety Data Sheet (MSDS)นั้น หมายถึง เอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงข้อมูลของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์เกี่ยวกับลักษณะความเป็นอันตราย พิษ วิธีใช้ การเก็บรักษา การขนส่ง การกำจัดและการจัดการอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมีนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องและปลอดภัย
ในปัจจุบันตามประกาศของสหประชาชาติ เรื่อง ระบบการจำแนกและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก (The Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals, GHS) กำหนดให้ใช้ SDS เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสื่อสารข้อมูลสารเคมีนอกเหนือจากบนฉลาก และเพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเป็นระบบเดียวกัน จึงกำหนดให้เรียกว่า Safety Data Sheet (SDS) พร้อมกับได้กำหนดรูปแบบและข้อมูลใน SDS ไว้ 16 หัวข้อ โดยมีหัวข้อดังต่อไปนี้
รูปแบบและข้อมูลใน SDS ไว้ 16 หัวข้อ
- ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี และบริษัทผู้ผลิตและหรือจำหน่าย (Identification of the substance/preparation and of the Company/undertake)
- ข้อมูลระบุความเป็นอันตราย (Hazards Identification)
- ส่วนประกอบและข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสม (Composition/Information on Ingredients)
- มาตรการปฐมพยาบาล (First Aid Measures)
- มาตรการผจญเพลิง (Fire Fighting Measures)
- มาตรการจัดการเมื่อมีการหกรั่วไหลของสารโดยอุบัติเหตุ (Accidental Release Measures)
- ข้อปฏิบัติในการใช้และการเก็บรักษา (Handling and Storage)
- การควบคุมการรับสัมผัสและการป้องกันภัยส่วนบุคคล (Exposure Controls/Personal Protection)
- คุณสมบัติทางเคมีและกายภาพ (Physical and Chemical Properties)
- ความเสถียรและความไวต่อการเกิดปฏิกิริยา (Stability and Reactivity)
- ข้อมูลด้านพิษวิทยา (Toxicological Information)
- ข้อมูลเชิงนิเวศน์ (Ecological Information)
- มาตรการการกำจัด (Disposal Considerations)
- ข้อมูลสำหรับการขนส่ง (Transport Information)
- ข้อมูลเกี่ยวกับกฎข้อบังคับ (Regulatory Information)
- ข้อมูลอื่น (Other Information)
ระบบ GHS (Globally Harmonized System for Classification and Labelling of Chemicals)
ปัจจุบันนี้มีการใช้ผลิตภัณฑ์เคมีอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งประโยชน์ของการใช้ผลิตภัณฑ์เคมี มีมากมาย แต่ก็สามารถทำให้เกิดโทษได้เช่นกัน ดังนั้นองค์การสหประชาชาติจึงได้จัดระบบสากลเพื่อจำแนกความเป็นอันตราย และการติดฉลากสารเคมีเพื่อให้เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ซึ่งระบบนี้เรียกว่า ระบบ GHS (Globally Harmonized System for Classification and Labelling of Chemicals)
โดยประโยชน์ของระบบ GHS นั้น เป็นระบบที่จะทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการปกป้องสุขภาพมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมจากอันตรายของสารเคมี ผ่านระบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ลดความซ้ำซ้อนในการจัดเตรียมข้อมูลและการประเมินสารเคมี วางรากฐานให้ประเทศต่าง ๆ มีข้อมูลสารเคมีที่ถูกต้องตรงกัน และ อำนวยความสะดวกการค้าสารเคมีระหว่างประเทศ โดยมีการระบุความเป็นอันตรายของสารเคมีภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน
โดยองค์ประกอบของฉลากตามระบบสากล GHS ได้แก่
- รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Hazard pictogram) เป็นสัญลักษณ์สีดำบนพื้นขาวอยู่ภายในกรอบสีแดงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีทั้งหมด 9 รูปสัญลักษณ์ เพื่อสื่อความหมายของความเป็นอันตรายในแต่ละด้าน และแต่ละประเภท
- คำสัญญาณ (Signal word) มี 2 คำสัญญาณ คือ “อันตราย” และ “ระวัง’’
- ข้อความแสดงความเป็นอันตราย (Hazard statement) เป็นการอธิบายความเป็นอันตรายของสารเคมี เช่น ละอองลอยไวไฟ เป็นอันตรายเมื่อกลืนกิน ทำให้ผิวหนังไหม้อย่างรุนแรง และทำลายดวงตาเป็นต้น
- ข้อความ และรูปสัญลักษณ์แสดงข้อควรระวัง (Precautionary statement and pictogram) ประกอบด้วยคำเตือน และข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอันตราย เก็บรักษา การกำจัด และจัดการเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ใช้ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก เก็บให้ห่างจากเด็ก ห้ามนำภาชนะกลับมาใช้อีก หากถูกผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด เป็นต้น
- ตัวบ่งชี้ผลิตภัณฑ์ (Product identifier) ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อสารเคมีที่เป็นสารสำคัญ หรือสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ และปริมาณความเข้มข้น
- การระบุผู้ผลิต หรือผู้จัดจำหน่าย (Supplier identification) ต้องมีชื่อที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย หรือหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินบนฉลาก
- ข้อมูลเพิ่มเติมอื่น ๆ (Supplementary information)
ที่มา:http://www2.envi.psu.ac.th/km/viewtopic.php?f=14&t=402,https://erdi.cmu.ac.th/?p=2933