สุขอนามัย
แนวคิดสำคัญ (Main Idea)
ผู้ที่มีสุขภาพดีเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสุข ปราศจากโรค สุขภาพเป็นสมบัติประจำตัวของมนุษย์ตามหลักพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” ซึ่งหมายถึง ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ซึ่งมีความหมายชัดเจนว่าบุคคลที่ไม่มีโรคประจำตัวย่อมเป็นลาภอันยิ่งใหญ่ เพราะคนเรานั้นถึงแม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายแต่ถ้าเป็นโรคก็ไม่มีความสุข
ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่าการที่คนเรามีสุขภาพดีทั้งทางกายและทางจิตใจนั้น ย่อมทำให้เราเป็นบุคคลหรือประชาชนที่เป็นทรัพยากรมีค่ายิ่งของสังคม ผู้ที่มีสุขภาพดีจะสามารถปฏิบัติงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว มีบุคลิกภาพที่ดี สุขภาพแข็งแรงเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วไป มีความสามารถในการดูแลตนเองและครอบครัว ตลอดจนมีความสามารถที่จะให้ความร่วมมือกับบุคคลอื่น ๆ ในการสร้างสังคม ถ้าประชาชนของชาติมีสุขภาพที่ดี ก็เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติด้วย
หัวข้อเรื่อง (Topics)
- ความหมายของสุขภาพ
- ความสำคัญของสุขภาพ
- ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่ดี
- การปรับปรุงสุขภาพเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ
- การออกกำลังกายเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ
- หลักในการออกกำลังกาย
- ประโยชน์ของการออกกำลังกาย
- ประเภทของการออกกำลังกาย
- การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
- สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
- อาหารที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
- การพักผ่อนและการนอนหลับ
สมรรถนะย่อย (Element of Competency)
- แสดงความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนด้านสุขภาพอนามัย
- ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติตนด้านสุขภาพอนามัย
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives)
- อธิบายความหมายของสุขภาพได้
- อธิบายความสำคัญของสุขภาพได้อธิบายลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่ดีได้
- อธิบายการปรับปรุงสุขภาพเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพได้
- อธิบายการออกกำลังกายเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพได้
- บอกหลักในการออกกำลังกายได้
- อธิบายประโยชน์ของการออกกำลังกายได้
- บอกประเภทของการออกกำลังกายได้
- อธิบายการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพได้
- บอกสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายได้
- บอกอาหารที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันได้
- อธิบายการพักผ่อนและการนอนหลับได้
เนื้อหา
คนที่มีสุขภาพดีคือคนที่มีความสุข มีความหวัง และมีพลังกาย พลังใจ สุขภาพจะเป็นเสมือนหนึ่งวิถีทาง อันจะนำบุคคลไปสู่ความสุข และความสำเร็จต่าง ๆ ในชีวิต สุขอนามัยที่ดีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อบุคลิกภาพที่ดีของบุคคล ซึ่งสามารถเรียนรู้ ฝึกฝน และสร้างให้เกิดนิสัยที่ดีได้ด้วยการดูแลเอาใจใส่ตนเองอย่างเหมาะสมและถูกต้อง คำว่าสุขอนามัยมาจากคำว่า “สุขภาพ” และ “อนามัย” สุขภาพ หมายถึง ความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และสามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขในสังคม ส่วนคำว่า อนามัย หมายถึง การดูแล เอาใจใส่ บำรุง ป้องกัน และส่งเสริมให้บุคคลมีร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี
ความหมายของสุขอนามัย จากความหมายของคำว่า สุขภาพและอนามัย สามารถสรุปความหมายของสุขอนามัยได้ว่า หมายถึง การรู้จักนำความรู้เกี่ยวกับสุขภาพไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอจนเกิดเป็นนิสัยส่งผลให้บุคคลมีสุขภาพดี มีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพจิตที่ดี และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในสังคม
ความหมายของสุขภาพ
สุขภาพที่ดีย่อมส่งผลให้มีบุคลิกภาพทางกายดีด้วย มนุษย์จึงมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ เพราะเป็นการสร้างให้บุคลิกภาพทางกายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นักวิชาการได้ให้ความหมายของสุขภาพไว้ดังนี้
ดำรงศักดิ์ ชัยสนิท และสุนี เลิศแสวงกิจ (2542:92) ให้ความหมายว่า สุขภาพ หมายถึงประสิทธิภาพของร่างกายและจิตใจที่ทำงานและมีชีวิตในสังคมได้ด้วยความพึงพอใจ
ผุสดี พฤกษะวัน (2547:36) ให้ความหมายว่า สุขภาพหมายถึงสภาวะความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือความพิการ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ดีด้วยความพอใจ
องค์การอนามัยโลก (The world health organization) ได้ให้ความหมายของสุขภาพไว้ว่า สุขภาพคือ สภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ และสภาพความเป็นอยู่ทางสังคม ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การไม่มีโรคหรือไม่ทุพพลภาพเท่านั้น
ดังนั้นสรุปได้ว่าสุขภาพ หมายถึง สภาพของร่างกายที่มีการเจริญเติบโต มีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย ร่างกายสะอาด แข็งแรง สมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ทุพพลภาพ พร้อมทั้งมีภูมิคุ้มกันโรคหรือมีความต้านทานโรคเป็นอย่างดี
ความสำคัญของสุขภาพ
สุขภาพมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างยิ่ง บุคคลที่มีสุขภาพดีก็สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างเต็มความสามารถ เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ต่อตนเอง และผู้อื่น เพราะบุคคลที่มีสุขภาพดี ย่อมมีอารมณ์ ความคิด จิตใจดีงามตามไปด้วย เนื่องจากไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมารบกวน คนเราจะมีสุขภาพดีได้นั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน เช่น การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังกายเพื่อให้อาหารที่รับประทานเข้าไปทำการย่อยสลายเพื่อไปบำรุงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้แข็งแรง การรับประทานอาหารที่พอเหมาะจะทำให้ไม่มีส่วนเกิน มีการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด ความเหนื่อยล้าจากการทำงานเป็นการเติมเต็มความสดชื่นให้กับร่างกาย และพร้อมที่จะทำหน้าที่การงานต่อไป
สุขภาพ ในปัจจุบันมีองค์ประกอบ 4 ส่วน ด้วยกัน คือ
1. สุขภาพกาย (Physical health) หมายถึง สภาพที่ดีของร่างกาย กล่าวคือ อวัยวะต่าง ๆ อยู่ในสภาพที่ดี มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ทำงานได้ตามปกติ และมีความสัมพันธ์กับทุกส่วนเป็นอย่างดี และก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีในการทำงาน
2. สุขภาพจิต(Mental health) หมายถึง สภาพของจิตใจที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ มีจิตใจ เบิกบานแจ่มใส มิให้เกิดความคับข้องใจหรือขัดแย้งในจิตใจ สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข
3. สุขภาพสังคม หมายถึง สภาวะที่ดีของปัญญาที่มีความรู้ทั่ว รู้เท่าทันและความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดีความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตใจ อันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
4. สุขภาพศีลธรรม หมายถึง บุคคลที่มีสภาวะทางกายและจิตใจที่สุขสมบูรณ์ สามารถปฏิสัมพันธ์และปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดีและมีความสุข
ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่ดี
สุขภาพร่างกายที่ดี หมายถึง ผู้ที่มีร่างกายเจริญเติบโต มีพัฒนาการอย่างเหมาะสม ทั้งร่างกายและจิตใจ ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอและถูกสัดส่วน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและไม่บกพร่องพิการทางกาย ควรมีลักษณะดังนี้
- แข็งแรง ทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของสังคมได้สะดวก เข้ากับผู้อื่นได้และเป็นที่ยอมรับของผู้อื่นด้วย
- มีหน้าตายิ้มแย้ม แจ่มใส ผิวพรรณมีน้ำมีนวล กิริยาท่าทางสนุกสนาน รื่นเริง เป็นที่น่าคบหาสมาคมของบุคคลทั่วไป
- ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายสง่างาม เป็นที่ชื่นชมแก่ผู้พบเห็น เช่น มีผิวพรรณสะอาด ผมเป็นเงางาม เป็นต้น
การปรับปรุงสุขภาพเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ
บุคลิกภาพที่ดีของบุคคลเกิดขึ้นจากการที่มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจที่แข็งแรง การดูแลสุขภาพจิตให้ดีจะส่งผลให้สุขภาพกายดี และการดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ดี แน่นอนย่อมส่งผลให้เกิดบุคลิกภาพที่ดี ทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง มีร่างกายที่สง่าผ่าเผย อกผายไหล่ผึ่ง ลักษณะท่าทางดี การปรับปรุงสุขภาพเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ มีวิธีปฏิบัติดังนี้
1. การดูแลบำรุงรักษาสุขภาพกาย
- กินอาหารให้ถูกต้อง ถูกหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสมไม่อ้วน หรือผอมเกินไป
- ออกกำลังกาย เล่นกีฬาเป็นประจำและต่อเนื่องตลอดชีวิต
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยหลับสนิทคืนละ 6 ชั่วโมง
- ดูสุขภาพกายโดยทั่วไป ไม่ให้เจ็บป่วย
- หากมีโรคประจำตัวต้องปรึกษาแพทย์
2. การดูแลสุขภาพด้านอารมณ์
- มองโลกในแง่ดีเสมอ
- ปรับตัวเข้ากับสังคม และสิ่งแวดล้อมได้ดี
- รู้จักตนเอง และเข้าใจบุคคลอื่นได้ดี
- มีความกระตือรือร้น ไม่เหนื่อยหน่าย หรือท้อแท้ใจ หรือหมดหวังในชีวิต
- มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ชีวิตส่วนตัว และครอบครัว
- มีความยืดหยุ่น ไม่เถรตรง ไม่แข็งกร้าวหรือไม่โลเลจนเกินไป
- มีอารมณ์มั่นคง ควบคุมอารมณ์ให้มั่นคง
- ฝึกการผจญกับความเครียด จนสามารถผ่อนหนักเป็นเบา
- สร้างความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และยอมรับผู้อื่น
- สร้างอารมณ์ขัน ฝึกยิ้มสู้เสมอ เมื่อเจอเหตุการณ์วิกฤตหรือคับขัน
3. การดูแลสุขภาพในด้านการเข้าสังคม
- รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ชิดโดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัว
- เตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ ในการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงานและชุมชน
- พยายามเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว
- มีเพื่อนสนิทและเพื่อนที่รู้ใจ
- เปิดใจคบเพื่อนใหม่เสมอ
- สร้างค่านิยมที่สังคมยอมรับ
- รู้จักพัฒนาบุคลิกภาพเมื่อต้องปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มคนประเภทต่าง ๆ
- มีอารมณ์ขัน ฝึกยิ้มเสมอ เมื่อเจอเหตุการณ์วิกฤติ
- อาสาสมัครช่วยพัฒนาชุมชนหรือกลุ่มที่ตนเองเป็นสมาชิก
- มีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมของสังคมและชุมชน
การออกกำลังกายเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ
การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ โดยธรรมชาติร่างกายและอวัยวะจำเป็นต้องใช้งานจึงจะแข็งแรงและเจริญเติบโต การออกกำลังกายนับว่ามีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง การออกกำลังกายที่ปฏิบัติกันมา ได้แก่ การเล่นกีฬา หรือการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การทำงานของร่างกาย แล้วให้ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ซึ่งช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต กิจกรรม การออกกำลังกายที่นิยมกัน ได้แก่
1. การแข่งขันกีฬา กีฬาสามารถนำมาเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพได้ แต่กีฬาประเภทนั้น ต้องมีลักษณะที่ให้ประโยชน์ในด้านการหายใจ และการไหลเวียนของโลหิตในร่างกาย จึงจะสามารถเพิ่มสมรรถภาพทางกายได้
2. เกมและการละเล่นที่ต้องใช้แรงกาย เกมการละเล่นหลายชนิดสามารถนำมาจัดให้เป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพได้ เกมละเล่นพื้นบ้านที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินและได้ออกแรงกาย ได้แก่ วิ่งเปรี้ยว ตี่จับ ลิงชิงบอล ตะกร้อลอดห่วง เป็นต้น
3. การบริหารร่างกาย มีผลต่อระบบเคลื่อนไหวของร่างกาย ได้แก่ โยคะ รำมวยจีน การ ออกกำลังกายทั่วไป การฝึกฝนร่างกายด้วยตนเอง หรือการไปออกกำลังกายตามสถานบริหารร่างกาย เช่น การวิ่งเหยาะ การกระโดดเชือก ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค เป็นต้น
4. งานอาชีพและงานอดิเรกที่ใช้แรงกาย งานอาชีพบางอย่างที่ได้ใช้แรงกายให้เหมาะสมก็จัดเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพได้
คำค้น : คือ มีอะไรบ้าง หมายถึง ตรงกับข้อใดมากที่สุด แปลว่า โควิด เขียนคําอ่าน สุขลักษณะ การ์ตูน png คืออะไร คําอ่าน วิธีปฏิบัติ ppt อ่านว่าอย่างไร
ที่มา:sites.google.com/site/karphathna10/home,health.kapook.com