ไฝเกิดจากอะไร
ไฝ หรือ ขี้แมลงวัน เป็นสิ่งที่เรา-ท่านสามารถพบเห็นได้ตามผิวหนังของทุกคน ทุกอายุ ส่วนใหญ่แล้วไม่มีอันตราย
ไฝ เกิดจากการรวมกลุ่มกันของเซลผิวหนังซึ่งสร้างสารสีดำ(melanin) ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องผิวหนังจากรังสี ultraviolet จะมีบางภาวะที่ของผิวหนังที่มีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ กลายเป็นมะเร็งของผิวหนังได้ ทั้งนี้ สาเหตุที่แน่นอนนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการที่ผิวหนังถูกกับสิ่งกระตุ้นต่างๆ เป็นเวลานานๆ เช่นถูกแสงแดดจัดๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานแรมปี หรือ ถูกสารเคมี เป็นต้น ในบางครั้ง ไฝที่เป็นอยู่ปกติ หากถูกถูไถ เช่นตามขอบเสื้อ ขอบกางเกง เป็นเวลานาน อาจมีการกลายเป็นมะเร็งได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าไฝที่มีอยู่ สงสัยจะกลายเป็นมะเร็ง
ไฝคืออะไร
ไฝ เป็นการเจริญเติบโตบริเวณเล็กๆ ของผิวหนังซึ่งเกิดจากการสร้างเซลล์เม็ดสีที่เรียกว่าเมลาโนไซท์ (melanocytes) จำนวนมาก อาจมีลักษณะนูนหรือเรียบ โดยปกติมักจะมีสีคล้ำ ไฝสามารถกลายเป็นสิ่งผิดปกติและพัฒนาเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่ง (malignant melanoma) ได้ ไฝที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือดูผิดปกติจำเป็นจะต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง
- ไฝ ที่เปลี่ยนแปลงขนาด โตขึ้นเร็วในระยะเวลาอันสั้น
- ไฝ ที่สีเข้ม ดำ สนิท
- ไฝ ที่ขอบเขตไม่กลม ไม่เรียบ
- ไฝ ที่นูนหนาขึ้นตรงกลาง และด้านข้างบุ๋มเป็นวงโดยรอบ
- ไฝ ที่มีไฝเม็ดเล็กๆ กระจายอยู่โดยรอบ
นอกจากนี้ หากพบไฝ หรือปานที่เปลี่ยนแปลงขนาดไปจากเดิม โดยเฉพาะบริเวณ ริมฝีปาก ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ
หากมีไฝที่ไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานเกิน ทั้งนี้เพราะว่า มะเร็งผิวหนังในระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้ หากปล่อยไว้นาน โรคอาจจะกระจายออกไป ยากแก่การรักษา
สัญญาณบ่งบอกว่าไฝมีความผิดปกติ
- ขนาด สี รูปร่าง เนื้อของไฝ หรือความรู้สึกเมื่อสัมผัสมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน
- มีสีอื่นปนเข้ามา โดยมากจะเป็นสีดำ
- ขอบไฝมีความผิดปกติ มีสีผิดปกติเกิดขึ้นบนผิวหนังรอบๆ ไฝ
- มีพื้นผิวผิดปกติ เช่น หนังลอก แตก มีของเหลวไหลเยิ้ม มีเลือดออก มีแผลเปิด และเจ็บปวด แต่ไม่หายเอง เกิดปุ่มนูนมีลักษณะแข็ง
- คัน เจ็บเมื่อสัมผัส
การป้องกัน
เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ไฝกลายเป็นสิ่งผิดปกติ (หรือก่อให้เกิดมะเร็ง)
- หลีกเลี่ยงการได้รับแสงแดดมากเกินไป หากจำเป็นต้องอยู่กลางแสงแดดควรสวมหมวกหรือเสื้อผ้าป้องกันแดด รวมทั้งทาโลชั่นป้องกันแสงแดดซึ่งมี SPF อย่างน้อย 15
- สังเกตไฝที่มีอยู่ โดยเฉพาะเม็ดที่มีความผิดปกติ และรายงานความเปลี่ยนแปลงของไฝให้แพทย์ทราบโดยเร็ว
- ให้แพทย์ตรวจและสังเกตไฝทุกๆ 12 เดือน หากมีไฝผิดปกติเป็นจำนวนมากตามร่างกายหรือคนในครอบครัวมีประวัติเคยมีไฝที่กลายเป็นมะเร็ง ควรตรวจให้บ่อยกว่าเดิมหรือทุกๆ 6 เดือน
ที่มา:si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=217