พันธุ์มะม่วง

พันธุ์มะม่วง ชื่อไทยโบราณฤดู 10 สายพันธุ์ถ้ารู้แล้วอย่างฮา?

พันธุ์มะม่วง

1. มะม่วงมันศาลายา

มะม่วงมันศาลายา
มะม่วงมันศาลายา

“มะม่วงมันศาลายา” อยู่ในกลุ่มมะม่วงทะวาย ติดดอกออกผลง่าย ให้ผลดกเป็นพวงและติดผลได้ตลอดปี เช่นเดียวกับ  “มะม่วงแก้วลืมคอน”   สามารถรับประทานได้ทั้งผลดิบและสุก  ผลดิบจะมีรสชาติมันกรอบหวานปนเปรี้ยวนิดๆ ฉ่ำน้ำ ผลสุก เนื้อแน่นเหนียวไม่เละ และไม่มีเสี้ยน  น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม   มะม่วงมันศาลายา เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ผลประจำบ้าน เพื่อเก็บผลรับประทาน และ ปลูกเพื่อเก็บผลขายได้ทั้งปี

2. มันขุนศรี

มะม่วงมันขุนศรี
มะม่วงมันขุนศรี

พันธุ์มันขุนศรี นิยมปลูกกันมาแต่โบราณ ผลเป็นรูปกลมรีและยาว ปลายผลจะเรียวแหลมและงอนมาก ส่วนหัวผลจะป้านไปด้านหลังดูคล้าย “ตัวเอส” ผลดิบเป็นสีเขียวมีนวล รสชาติเปรี้ยวจัด ผลสุกเป็นสีเหลือง เนื้อในสีเหลืองปนส้มเล็กน้อย รสหวานปนเปรี้ยวนิดๆ ไม่มีเสี้ยน มีกลิ่นหอมรับประทานอร่อยคล้ายมะม่วงพิมเสนมัน

3. พราหมณ์ขายเมีย ( Phram Khai Mai)

มะม่วงชนิดนี้ เป็นมะม่วงไทยโบราณนิยมปลูกเฉพาะถิ่นแถบ อ.บางกรวย อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี กับย่านตลิ่งชัน เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี กทม. มาช้านานแล้ว ที่มาของชื่อพันธุ์เกิดจากรสชาติความอร่อยของมะม่วง ทำให้พราหมณ์ต้องยอมขายเมียตัวเองเพื่อเอาเงินไปซื้อผลสุกมากิน จึงถูกเรียกว่า “มะม่วงพราหมณ์ขายเมีย”

มะม่วงพราหมณ์ขายเมีย เป็นไม้ยืนต้นสูง 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเยอะ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรอบกิ่งก้านส่วนปลายยอด ใบเป็นรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนมน เนื้อในหนา สีเขียวสด  ทรงผลรูปกลมรี น้ำหนักเฉลี่ย 3-4 ผล ต่อกิโลกรัม ผลดิบสีเขียว รสชาติเปรี้ยวปนหวานและมัน   ผลสุกสีเหลือง เนื้อในสีเหลืองอมส้ม หวานหอมไม่เละ ไม่มีเสี้ยน เมล็ดเล็กบาง ความหวานวัดได้ถึง 19.2 องศาบริกซ์ ติดผลปีละครั้งตามฤดูกาล

4. อกร่องพิกุลทอง

มะม่วงอกร่องพิกุลทอง
มะม่วงอกร่องพิกุลทอง

มะม่วงอกร่องพิกุลทองนั้น จัดว่าเป็นน้องใหม่ที่กลายพันธุ์จากมะม่วงอกร่องโบราณ จุดเด่นคือ มีขนาดผลใหญ่กว่าอกร่องปกติสามเท่า  ทรงผลยาวกว่ามะม่วงอกร่องโบราณ ผิวเปลือกเหลืองสวยและตรงแก้มจะมีสีแดงอมชมพู  ลักษณะของผลค่อนข้างแบน ผลดิบเนื้อละเอียดสีขาวนวล มีเสี้ยนน้อย รสเปรี้ยวจัดจนกระทั่งแก่ เมื่อสุก เนื้อสีเหลืองละเอียด มีกลิ่นหอม รสหวานนิยมรับประทานสุกกับข้าวเหนียว

5. แก้วลืมรัง

มะม่วงแก้วลืมรัง
มะม่วงแก้วลืมรัง

มะม่วงพันธุ์แก้วลืมรัง มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือมีรสชาติหวานจัด เปรียบเหมือนนกแก้วกินยังหวานจนลืมรัง  ลักษณะผลเรียวยาว หัวมนไม่ใหญ่ ผลออกแนวแบนนิดๆ ไม่กลมมาก ปลายผลเรียวงอนิดๆไม่งอมากเท่างา นิยมกินสุกหวานอร่อยมาก เนื้อแน่น กินกับข้าวเหนียวมะม่วงอร่อย นิยมส่งออก สายพันธุ์ไม่แพร่หลาย ออกมาช่วงสั้นๆก็หมด เป็นมะม่วงเฉพาะถิ่น

6.มะม่วงสามฤดู

“มะม่วงสามฤดู” เป็นมะม่วงพันธุ์โบราณที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือ ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี จึงถูกเรียกชื่อว่า “มะม่วงสามฤดู”  ผลมีรูปทรง กลมป้อมมีโหนกสูง ผลสั้นและมีขนาดเล็กกว่ามะม่วงแก้ว ผลดิบมีรสเปรี้ยวจัดและฉ่ำน้ำ สามารถสับเป็นฝอยบีบคั้นเอาน้ำใช้แทนน้ำมะนาวได้เลย นิยมใช้เป็นเครื่องเคียงเติมรสเปรี้ยวในเมนูข้าวคลุกกะปิ ข้าวยำปักษ์ใต้  ผลสุก เนื้อเป็นสีเหลือง เนื้อแน่นเหนียวไม่เละ แต่จะมีเสี้ยนบ้าง รสชาติหวานหอมใกล้เคียงกับเนื้อสุกของมะม่วงอกร่อง รับประทานกับข้าวเหนียวมูนได้ คนเฒ่าคนแก่ในยุคสมัยก่อนชื่นชอบเอาเนื้อสุกของ “มะม่วงสามฤดู” รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ ได้คุณค่าทางอาหารดีมาก

7.น้ำดอกไม้มัน (Nam Dok Mai Man)

ลักษณะประจำพันธุ์ ผลทรงรี  การออกดอก และติดผล ปานกลาง  เป็นมะม่วงพันธุ์หนัก อายุการเก็บเกี่ยว  100-120 วัน ผลผลิตในช่วงฤดู มีน้ำหนักผล 550-940 กรัม เปลือกผลดิบสีเขียว มีเนื้อสีขาว รสหวานอมเปรี้ยว เปลือกผลสุก สีเหลืองอมเขียว ลักษณะของเนื้อละเอียด มีสีเหลืองและมีรสหวาน 19.1-22.5 องศาบริกซ์ เนื้อมะม่วงมีกลิ่นอ่อน เปอร์เซ็นต์เนื้อ 88.3 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณเส้นใยน้อย ปริมาณน้ำในเนื้อมาก   จุดเด่น คือ ใบมีลักษณะคล้ายเขียวเสวย ผลคล้ายน้ำดอกไม้ แต่ใหญ่กว่า

8.มะม่วงมันเดือนเก้า (ทะวายเดือนเก้า)

มะม่วงทะวายเดือนเก้า
มะม่วงทะวายเดือนเก้า

มะม่วงมันเดือนเก้า เป็นไม้ยืนต้นสูง 10 – 20 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเยอะ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นคู่ รอบกิ่งก้านบริเวณช่วงปลายยอด ใบเป็นรูปขอบขนาน โคนมน ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด  ผลดิบมีรสชาติเปรี้ยว ผลแก่จัดมีรสชาติเปรี้ยวมันอมหวาน  โดยทั่วไปมะม่วงพันธุ์นี้ ติดผลง่าย ให้ผลดก ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนักผล 250-500 กรัม เนื้อมะม่วงมีกลิ่นแรง เนื้อละเอียด รับประทานได้ทั้งดิบและกึ่งสุก จึงเป็นที่นิยมของพ่อค้าแม่ค้า ที่รับมะม่วงไปปอกขาย

9.มันขายตึก

มะม่วงมันขายตึก หรือ “มะม่วงแขกขายตึก” อยู่ในวงศ์ ANACARDIACEAE เป็นมะม่วงสายพันธุ์โบราณจัดอยู่ในกลุ่มมะม่วงมันหรือมะม่วงกินดิบชนิดหนึ่ง  ที่มาของชื่อเกิดจากรสชาติที่อร่อย จึงเปรียบเปรยว่าให้ขายตึกขายบ้านมาทานก็ยอมเลยทีเดียว จัดเป็นมะม่วงพันธุ์ไทยโบราณ ผลรูปกลมรีคล้ายผลมะม่วงมัน หรือมะม่วงแรด แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า เมื่อโตเต็มที่น้ำหนักประมาณ 2 ผลต่อหนึ่งกิโลกรัม เนื้อผลเยอะ ไม่มีเสี้ยน เม็ดลีบ ผลดิบสีเขียว รสชาติหวานมันปนเปรี้ยวนิด ๆ กรอบเหมือนมะม่วงมัน นิยมปลูกเพื่อรับประทานผลดิบ

10.พิมเสนมันทะวาย

มะม่วงพิมเสนมันเป็นพันธุ์โบราณ ที่นิยมปลูกเฉพาะถิ่นในแถบภาคกลางมาช้านาน ผลดิบจะมีรสชาติมันปนเปรี้ยวนิดๆ   ผลสุกเนื้อมีสีเหลืองไม่เละ รสชาติหวานแหลมมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รับประทานแล้วหวานเย็นชื่นใจ “มะม่วงพิมเสนมัน” จะติดผลได้ถึงปีละ 2 หน ติดผลดกมาก จึงนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน

มะม่วงพิมเสนมัน เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับรอบกิ่งก้านหนาแน่นบริเวณช่วงปลายยอด ใบเป็นรูปใบหอก ปลายแหลมใบไม่ใหญ่นัก ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก

ดอกเป็นสีเหลืองนวลมีกลิ่นหอมเย็น “ผล” รูปกลมรี อวบอ้วนและมีขนาดใหญ่กว่าผลมะม่วงพิมเสนสายพันธุ์ ดั้งเดิมอย่างชัดเจน ผลอ่อนเป็นสีเขียวเมื่อสุกเป็นสีเหลืองปนสีส้มเล็กน้อย ไม่เป็นสีเข้มเหมือนกับสีผลสุกของมะม่วงพิมเสนพันธุ์ดั้งเดิม แต่จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวเช่นเดียวกัน รสชาติหวานหอมอร่อยมาก เม็ดลีบ สามารถติดผลได้ปีละ 2 หน ตามที่กล่าวข้างต้น ขยายพันธุ์ด้วย เม็ดตอนกิ่ง และเสียบยอด

ที่มา:สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดอ่างทอง

บทความแนะนำ หมวดหมู่: ไลฟ์สไตล์
จำนวนคอมเมนต์ของโพสต์ ID 173026: 552