บุคลิก

การพัฒนาบุคลิกภาพบุคลิกภาพที่ดีองค์ประกอบมีเอกลักษณ์ 3 ข้อ?

การพัฒนาบุคลิกภาพ

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบุคลิกภาพ

แนวคิดสำคัญ (Main Idea)

บุคลิกภาพคือสิ่งที่ทำให้แต่ละบุคคลมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว บุคลิกภาพจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และความพยายามที่จะปรับปรุงบุคลิกภาพของแต่ละคน ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดีย่อมได้เปรียบ เป็นที่ต้องตาต้องใจแก่ผู้พบเห็น ตลอดจนมักจะประสบผลสำเร็จในการสมัครเข้าทำงานและการประกอบอาชีพ บุคลิกภาพเป็นเรื่องของภาพรวมที่ตัวเราแสดงออกไป ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวโดยมีบุคคลอื่นมองอยู่หรือรู้สึกกับสิ่งที่เราแสดงออกจึงต้องมีการระมัดระวังและตกแต่งเสริมเติมให้บุคลิกภาพของเรายิ่งน่ามอง และเป็นที่ประทับใจของคนรอบตัว

ดังนั้น การที่บุคคลจะได้รับการยอมรับนับถือ การสนับสนุนความไว้วางใจและความประทับใจจากผู้อื่น ควรแสดงบุคลิกภาพที่ดีและเหมาะสมให้ผู้อื่นเห็น ซึ่งประกอบไปด้วยรอยยิ้มที่อบอุ่น จิตวิทยาดี อารมณ์คงที่ คำพูดที่จริงใจ การยืน การเดิน การนั่ง การวางท่าทีให้ดูเป็นธรรมชาติ เพราะบุคลิกมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง

1. ความหมายของบุคลิกภาพ
  1. ความหมายของบุคลิกภาพ
  2. ความสำคัญของบุคลิกภาพ
  3. ขอบข่ายของบุคลิกภาพ
  4. องค์ประกอบและโครงสร้างของบุคลิกภาพ
  5. แนวความคิดเกี่ยวกับบุคลิกภาพ
  6. ประเภทของบุคลิกภาพ
  7. การศึกษาพฤติกรรมจากบุคลิกภาพของคน
  8. พัฒนาการของบุคลิกภาพ
  9. ลักษณะของบุคลิกภาพที่ดี
2. สมรรถนะย่อย (Element of Competency)
  1. แสดงความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบุคลิกภาพ
  2. ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบุคลิกภาพ
3. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Objectives)
  1. อธิบายความหมายของบุคลิกภาพได้
  2. อธิบายความสำคัญของบุคลิกภาพได้
  3. อธิบายขอบข่ายของบุคลิกภาพได้
  4. อธิบายองค์ประกอบและโครงสร้างของบุคลิกภาพได้
  5. อธิบายแนวความคิดเกี่ยวกับบุคลิกภาพได้
  6. แยกประเภทของบุคลิกภาพได้
  7. อธิบายการศึกษาพฤติกรรมจากบุคลิกภาพของคนได้
  8. อธิบายพัฒนาการของบุคลิกภาพได้

เนื้อหา
การดำเนินชีวิตหรือการประกอบอาชีพต่าง ๆ ในปัจจุบันทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน ธุรกิจ บุคคลได้ให้ความสำคัญเรื่องบุคลิกภาพมากทีเดียว ดังจะเห็นได้จากการรับสมัครบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ มักกำหนดคุณสมบัติของบุคลิกภาพไว้เป็นประการสำคัญ จากการวิจัยวิศวกรกลุ่มหนึ่งในสหรัฐอเมริกา พบว่า วิศวกรสมองดี ความรู้ดี และบุคลิกภาพที่ดี สามารถหาเงินและปฏิบัติหน้าที่   ได้ดีกว่าถึง 6 เท่า ของวิศวกรที่มีสมองดี ความรู้ดี แต่หย่อนบุคลิกภาพ

            บุคลิกภาพจึงส่งผลต่อ ความสำเร็จ” และ “ความล้มเหลว” ของตนเองและองค์กร เพราะบุคคลที่มีความสามารถและตำแหน่งสูงย่อมต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ได้ สามารถโน้มน้าวจิตใจให้ผู้ที่ติดต่อด้วยรู้สึกพอใจ เกิดความนิยมชมชอบ รู้สึกประทับใจ ยินดีร่วมมือด้วยความเต็มใจ ก็จะทำให้   การทำงานร่วมกันประสบความสำเร็จ ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อตนเอง เพื่อนร่วมงานและองค์กร

งานแต่ละประเภทให้ความสำคัญเกี่ยวกับบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไป เช่น งานบริการ    งานขายสินค้า ส่วนใหญ่จะต้องมีบุคลิกภาพดี สะอาด พูดจาสุภาพ ก็จะทำให้มีโอกาสขายสินค้าได้สูงขึ้น งานประเภทใช้กำลังกาย บุคลิกภาพของผู้ประกอบอาชีพนี้ ก็จะต้องมีลักษณะความแข็งแรงทางร่างกายสูง งานประเภทค้าขายสินค้าอาหารต่าง ๆ บุคลิกภาพของคนประกอบอาชีพนี้ก็ควรมีบุคลิกภาพที่เหมาะสม คือ แต่งตัวสะอาด รัดกุม เรียบร้อย ก็จะทำให้มีโอกาสขายสินค้าหรืออาหาร     ได้ดีกว่าคนที่แต่งตัวสกปรก เสื้อผ้าเก่า ๆ ไม่เรียบร้อย เป็นต้น

            ดังนั้น บุคลิกภาพที่ดีที่ได้รับการปรับปรุงแล้วเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ขุมพลังอันยิ่งใหญ่ ทั้ง   ในด้านส่วนตัวและการประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดประโยชน์และความสำเร็จ ทั้งทางด้านการเงินตำแหน่งและสังคม บุคลิกภาพจึงเป็นเรื่องที่ควรแก่การศึกษา เพื่อจะได้ใช้ขุมทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

ภาพที่ 1.1 บุคลิกภาพที่ดีเริ่มต้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก
ภาพที่ 1.1 บุคลิกภาพที่ดีเริ่มต้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก

ความหมายของบุคลิกภาพ

        บุคลิกภาพตรงกับภาษาอังกฤษว่า Personality มีรากศัพท์เต็มมาจากภาษากรีก คือ Persona   (Per + Sonar) ซึ่งหมายถึง Mask แปลว่าหน้ากากที่ตัวละครใช้สวมใส่ในการเล่นเป็นบทบาทแตกต่างกันไปตามที่ได้รับ

การเล่นละครของกรีกและโรมันในสมัยก่อนตัวละครได้รับบทบาทใดก็จะสวมหน้ากากแล้วแสดงตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย เช่น เล่นเป็นผีก็จะสวมหน้ากากผี เล่นเป็นลิงก็จะสวมหน้ากากลิง เป็นต้น หน้ากากที่สวมนั้นจะได้รับการออกแบบมาอย่างดีเพื่อให้ผู้เล่นพูดได้อย่างสะดวก

จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นนำมาสู่ความเข้าใจว่า บุคลิกภาพของคนก็เหมือนกับหน้ากากละครที่จะแสดงพฤติกรรมไปในสถานการณ์ที่แตกต่างกันตามบทบาทที่ตนเองได้รับ เช่นเดียวกับตัวละคร      ที่แสดงบทบาทตามหน้ากากที่สวมอยู่ คำว่าบุคลิกภาพนั้นหมายความรวมไปถึงเสื้อผ้าที่เราสวมอยู่ กิริยาที่เราแสดง และกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระทำ ด้วยความสลับซับซ้อนของโลกที่เป็นอยู่อย่างปัจจุบันบังคับให้บุคคลแสดงในหลาย ๆ บทบาท บุคลิกภาพของมนุษย์จึงมีการพัฒนามากขึ้น

ภาพที่ 1.2 บุคลิกภาพที่ดี
ภาพที่ 1.2 บุคลิกภาพที่ดี

นักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่าบุคลิกภาพไว้ ดังนี้

  • คลักฮอห์น (Kluckhohn) ได้กล่าวว่าบุคลิกภาพของมนุษย์ทั่วไปจะมีลักษณะร่วม ที่เหมือนกันในฐานะเป็นมนุษย์ และจะมีลักษณะส่วนหนึ่งที่คล้ายกับทุกคนในสังคมและวัฒนธรรมที่ตนเป็นสมาชิก แต่ขณะเดียวกันจะมีคุณสมบัติที่พิเศษเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เช่น คนไทยคนใดคนหนึ่งจะมีบุคลิกภาพส่วนตัวร่วมกับ มนุษย์โดยทั่วไป และจะมีบุคลิกภาพของตนโดยเฉพาะ
  • จีเมอร์ฟีแอลเมอร์ฟีและ ที นิวคอมบ์ (G. Murphy, L. Murphy and T. Newcomb) กล่าวว่า บุคลิกภาพ คือ ความเด่นประจำตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจบอกถึงความแตกต่างกับบุคคลอื่น ๆ ได้     ในรูปของปริมาณและคุณภาพในลักษณะเด่น ๆ นั้น
  • ชไนเดอร์ (Schneider) กล่าวว่า บุคลิกภาพ หมายถึง กระบวนการสร้าง หรือการรวมคุณลักษณะทั้งด้านร่างกายและจิตใจของบุคคล ตลอดจนความสามารถ ความโน้มเอียง นิสัย อากัปกิริยาของแต่ละบุคคลโดยเฉพาะและบุคลิกภาพจะเป็นเครื่องกำหนดปฏิกิริยาของบุคคลที่มีต่อตนเองและผู้อื่น และเป็นผลต่อความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อสิ่งแวดล้อม วัตถุ บุคคล และวัฒนธรรมของสังคมที่เขาอาศัยอยู่
  • เบอร์นาร์ด (Bernard) ได้ให้ความหมายของบุคลิกภาพว่า หมายถึง ผลรวมทั้งหมดของท่าทาง รูปร่างลักษณะทางกาย พฤติกรรมที่แสดงออก แนวโน้มการกระทำ ขอบเขตความสามารถทั้งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในและที่แสดงออกมา
  • มอร์แกน (Morgan) ให้ทัศนะว่า บุคลิกภาพ คือ คุณสมบัติและคุณลักษณะเด่นของบุคคล รวมทั้งการปรับตัวของบุคคลและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
  • ฮาร์ทแมน (Hartman) ได้ให้ความหมายของบุคลิกภาพว่า หมายถึง ส่วนรวมทั้งหมดที่บุคลิกแสดงออกโดยกิริยาอาการ ความนึกคิด อารมณ์ นิสัยใจคอ ความสนใจ การติดต่อกับผู้อื่น ตลอดจนรูปร่างหน้าตา การแต่งกาย และความสามารถในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น
  • ฮิลการ์ด (Hilgard) กล่าวว่า บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะส่วนรวมของบุคคลแต่ละคนอันเป็นแนวทางในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่ละคนมีรูปแบบของการแสดงออกทางพฤติกรรม ต่าง ๆ กัน
  • ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า บุคลิกภาพ หมายถึง สภาพนิสัยจำเพาะคน หรือลักษณะเฉพาะประจำตัวของแต่ละบุคคลที่ปรากฏให้เห็น

            นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากนักจิตวิทยาอีกหลายท่านได้ให้คำจำกัดความของคำว่า บุคลิกภาพ ซึ่งมีความหมายที่คล้ายคลึงกัน จากคำจำกัดความของบุคลิกภาพดังที่กล่าวว่ามาแล้วข้างต้น จึงสามารถสรุปความหมายของคำว่าบุคลิกภาพได้ดังนี้

บุคลิกภาพ หมายถึง แบบแผนพฤติกรรมของบุคคลซึ่งเป็นลักษณะเอกลักษณ์ที่แสดงออกทั้งทางด้านความคิด ความรู้สึก ความสนใจ สติปัญญา รวมทั้งทางด้านสรีระ บุคลิกภาพภายนอกและภายใน ทำให้สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ บุคลิกภาพของบุคคลเป็นผลมาจากพันธุกรรม (Heredity) และสิ่งแวดล้อม (Environment)

ภาพที่ 1.8 ความรัก ความอบอุ่นการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวมีผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล
ภาพที่ 1.8 ความรัก ความอบอุ่นการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวมีผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล

ความสำคัญของบุคลิกภาพ

การมีบุคลิกภาพที่ดีจะทำให้บุคคลมีลักษณะสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การมีความสามารถในการรับรู้และเข้าใจในสภาพความเป็นจริงได้อย่างถูกต้อง การแสดงอารมณ์จะอยู่ในลักษณะและขอบเขตที่เหมาะสม มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นและสังคมได้ดี มีความรัก และความผูกพันต่อผู้อื่น มีความสามารถในการพัฒนาตนเอง การพัฒนาทางการแสดงออกของตนต่อผู้อื่นได้ดี

บุคลิกภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทั้งในด้านของการดำเนินชีวิต การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล การปฏิบัติหน้าที่การงาน การเข้าสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้    ล้วนแล้วแต่มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าของบุคคล

การมีบุคลิกภาพที่ดีทำให้บุคคลได้รับประโยชน์ ดังนี้
  1. ความมั่นใจ (Confident) ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดี จะทำให้รู้สึกมั่นใจในการแสดงออกมากขึ้น  กล้าแสดงความคิดเห็น แสดงความรู้สึก และกล้าที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมักจะเป็นการแสดงออกที่ดีทำให้ผู้พบเห็นให้ความสนใจซึ่งนำไปสู่ความเชื่อมั่นในตนเองของบุคคลผู้นั้น เช่น กรกนกมีบุคลิกภาพที่ดี เมื่อได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนกลุ่มในการนำเสนอผลงาน ก็สามารถนำเสนอผลงานได้ดี เพราะมีความมั่นใจ และกล้าแสดงออก 
  2. ความสำเร็จ (Success) บุคคลที่มีบุคลิกภาพที่ดี สามารถสร้างความเชื่อถือศรัทธา ประกอบกับความเชื่อมั่นในตนเอง จึงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความศรัทธาให้ผู้ร่วมงานให้ความร่วมมือ ทำให้ได้รับความสะดวกพร้อมเพรียงและปฏิบัติงานให้สำเร็จด้วยดี
  3. ความเป็นตัวของตัวเอง (Self-confident) ผู้ที่มีบุคลิกภาพดี จะมีลักษณะเฉพาะตัว และเป็น ตัวของตัวเองสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งด้านการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น เมื่อ เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ
  4. การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual differences) ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดี จะมองเห็นและยอมรับในความแตกต่างของบุคคลว่า คนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านรูปร่างและสติปัญญา จึงทำให้ผู้พบเห็นยอมรับและแยกความแตกต่างของบุคคลได้ ช่วยให้สามารถรู้จักและเข้าใจบุคคลแต่ละคนได้ดีขึ้น
  5. การปรับตัว (Adaptation) ผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดี จะมองเห็น และยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคลจึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับบุคคลและสถานการณ์ได้ดีขึ้น สามารถสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลที่แวดล้อมและเกี่ยวข้องได้
  6. การยอมรับของกลุ่ม (Acceptance) บุคคลที่มีบุคลิกภาพดีย่อมเป็นที่ต้องตาต้องใจ นิยมชมชอบศรัทธาเชื่อมั่น และได้รับการยอมรับจากกลุ่มเป็นอย่างดี ทำให้รู้สึกพอใจ ยินดี และมีความมั่นคงทางด้านจิตใจ เสริมสร้างให้ได้รับความสำเร็จทั้งส่วนตนและองค์กร
  7. การคาดหมายพฤติกรรม (The expected behavior) บุคคลที่มีบุคลิกภาพดีที่ต่างกันทำให้สามารถทำนายพฤติกรรมของบุคคลนั้นได้ เช่น บุคคลที่ยิ้มแย้มแจ่มใสมักเป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี บุคคลที่มีความกระตือรือร้น มักเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เป็นต้น
ภาพที่ 1.4 บุคลิกภาพที่ดีทำให้มีความสุขในการทำงาน
ภาพที่ 1.4 บุคลิกภาพที่ดีทำให้มีความสุขในการทำงาน

ขอบข่ายของบุคลิกภาพ

สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยึดถือในการพิจารณาบุคลิกภาพของบุคคลมีดังต่อไปนี้
  1. ลักษณะทางกาย (Physical characteristics) เป็นสิ่งที่เราสามารถมองเห็นได้ ได้แก่ รูปร่างทรวดทรงความสูงน้ำหนัก หน้าตา สีผม ผิวพรรณ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงให้ทราบถึงประสิทธิภาพของบุคคลและความสามารถในการงาน
  2. ลักษณะการพูดจาท่าทาง (Flattering styles) คือ การแสดงออกทางด้านการพูด ได้แก่ ความชัดเจนชัดถ้อยชัดคำ การพูดเร็ว การพูดช้า การพูดติดอ่าง การพูดแบบมีจังหวัดจะโคน รวมถึงการใช้น้ำเสียงในการพูด เป็นต้น
  3. ลักษณะทางจิตใจ (Psychological characteristics) ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับสมองทั้งสิ้น ได้แก่สติปัญญา ความจำ ความถนัด จินตนาการ ความสนใจ ความตั้งใจ เจตคติ การตัดสินใจ การคิดด้วยเหตุผล เป็นต้น
  4. อุปนิสัย (Character) เป็นสิ่งที่แสดงออกเป็นพฤติกรรมเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควร   จนเป็นความประพฤติ เช่น ความซื่อสัตย์ ความไม่เห็นแก่ตัว ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสุภาพอ่อนโยนความเคารพกฎหมาย ความมัธยัสถ์ อดออม ความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ เป็นต้น
  5. อารมณ์ (Emotion) เป็นความรู้สึกแห่งจิตที่ก่อให้เกิดอาการกระทำต่าง ๆ เช่น โกรธ ร่าเริงตกใจ หงุดหงิด กังวล กล้าหาญ หวาดกลัว เกลียด รัก เป็นต้น
  6. กำลังใจ (Encouragement) คือ ความสามารถที่จะควบคุมหรือบังคับกิริยาอาการต่าง ๆ ที่กระทำไปโดยเจตนา บางคนมีกำลังใจดี กำลังใจเข้มแข็ง ก็จะสามารถเผชิญอุปสรรคหรือปัญหาได้ดี บางคนเปราะบาง เมื่อมีสิ่งใดเข้ามากระทบจิตใจก็เกิดอาการท้อถอย หมดกำลังใจในการแก้ไขปัญหา
  7. การสมาคม (Sociability) เป็นกิริยาท่าทาง หรืออาการที่แสดงออกต่อบุคคลอื่น เช่น เสียสละหรือว่าเอาเปรียบ ชอบคบหาสมาคมหรือชอบเก็บตัว เมตตาปรานี เห็นใจผู้อื่นหรือไม่แยแสผู้อื่น
  8. ความรู้ ความสามารถ อำนาจ ฐานะ การเป็นคนมีความรู้สูง มีความชำนาญ มีความสามารถพิเศษ มีอำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ มีอิทธิพล มีฐานะทางการเงินดี เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะส่งเสริมบุคลิกภาพอย่างมาก
ภาพที่ 1.5 ลักษณะกิริยาท่าทาง สามารถบอกถึงบุคลิกภาพของบุคคลได้
ภาพที่ 1.5 ลักษณะกิริยาท่าทาง สามารถบอกถึงบุคลิกภาพของบุคคลได้

 องค์ประกอบและโครงสร้างของบุคลิกภาพ

องค์ประกอบและโครงสร้างของบุคลิก หมายถึง สิ่งที่มาประกอบเข้ากันจนกลายเป็นตัวบุคคลนั้น โดยส่วนรวมทำให้แตกต่างไปจากบุคคลอื่น องค์ประกอบของบุคลิกภาพของบุคคลไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิดเพียงอย่างเดียว หากแต่บางสิ่งบางอย่างได้มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างไม่ได้วันจบสิ้น จึงเห็นได้ว่าบุคลิกภาพของคนมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพได้แก่ องค์ประกอบทางด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ สติปัญญา และด้านสังคม ซึ่งได้มาโดยการสร้างสมจากอิทธิพลของพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และความพยามยามที่จะปรับปรุงบุคลิกภาพของแต่ละคน จึงอาจกล่าวได้ว่า

องค์ประกอบและโครงสร้างของบุคลิกภาพ มีดังต่อไปนี้
  1. อิทธิพลจากพันธุกรรม (Heredityหมายถึง สิ่งที่เป็นลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากสิ่งมีชีวิตรุ่นก่อนหน้าโดยสามารถถ่ายทอดส่งต่อจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้ หรือ พันธุกรรม (Heredity) คือ การถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งพันธุกรรมถือเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกันเบื้องต้น และเป็นเงื่อนไขกำหนดทิศทาง และขอบเขตของการพัฒนาบุคลิกภาพระดับหนึ่ง บุคลิกภาพที่ได้มาจากพันธุกรรม ได้แก่
    1.1 ลักษณะทางกาย เช่น รูปร่าง หน้าตา สีผิว สีตา โรคบางอย่าง ความแข็งแรง ความอ่อนแอ น้ำเสียง ซึ่งลักษณะทางกายนี้ เป็นด่านแรกที่อาจทำผู้พบเห็นเกิดความสนใจ หรือประทับใจ
    1.2 พัฒนาการทางสติปัญญา เช่น ความเฉลียวฉลาด ปฏิภาณไหวพริบ พรสวรรค์ ฯลฯ พัฒนาการทางสติปัญญานี้นอกจากจะได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรมแล้วยังร่วมด้วยบทบาทของสิ่งแวดล้อม เช่น บางคนได้รับพันธุกรรมทางสติปัญญาไม่ได้ แต่ได้รับสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่นอาหาร การอบรม บรรยากาศ ความอบอุ่น การศึกษาที่ดี เหล่านี้ช่วยส่งเสริมความสามารถทางสติปัญญาได้ ในทางตรงกันข้ามถึงแม้ว่าบุคคลจะได้รับพันธุกรรมทางสติปัญญา แต่ได้อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี รับประทานอาหารไม่ครบหมู่ มีโรคภัยไข้เจ็บ หรือได้อยู่ในสถานที่ที่ไม่ได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ มากมายนักก็จะเป็นการบั่นทอนความสามารถทางสติปัญญาได้
    1.3 ลักษณะทางใจ หมายถึง เจตคติต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น อุปนิสัย ความร่าเริง ความจำ ความ    คิดอ่าน การตัดสินใจ เป็นต้น1.4 ลักษณะทางอารมณ์ คือ ความสามารถในการควบคุมความรู้สึก และการกระทำต่าง ๆ ซึ่งมักเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก

    ภาพที่ 1.6 อิทธิพลจากพันธุกรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่กำหนดขอบเขตของบุคลิกภาพ
    ภาพที่ 1.6 อิทธิพลจากพันธุกรรมเป็นสิ่งหนึ่งที่กำหนดขอบเขตของบุคลิกภาพ
  2. บุคลิกภาพที่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม (Environment) สิ่งแวดล้อมคือ สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวบุคคล เป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิต เช่น ญาติพี่น้อง และสิ่งไม่มีชีวิต เช่น วัฒนธรรม การศึกษาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดขอบเขตของการพัฒนาของบุคคล เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีฐานะดี ได้รับการอบรมที่ดี มีอาหารการกินที่ดี ก็จะได้รับการพัฒนาและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ ในทางตรงกันข้ามเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่ขาดความอบอุ่นหรือขาดการอบรมสั่งสอนที่ถูกที่ควรเด็กก็จะเติบโตในแบบที่แตกต่างไป จึงอาจกล่าวได้ว่า เมื่อมนุษย์อยู่ในครรภ์มารดา เหมือนกับการเพาะเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ย่อมต้องการดิน ต้องการน้ำ และต้องการปุ๋ย เมื่อเมล็ดพันธุ์เติบโตในดินที่ต่างกัน ได้รับน้ำและปุ๋ยที่ต่างกัน ก็ย่อมเติบโตมาต่างกัน แม้แต่กระทั่งเด็กแฝดที่เกิดมาในครรภ์มารดาเดียวกัน มีลักษณะทางพันธุกรรมที่เหมือนกัน จึงกล่าวได้ว่าสิ่งแวดล้อมนั้นมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพมากสิ่งแวดล้อมที่เข้ามามีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของบุคคล ได้แก่

    2.1 อาหาร เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ หากเด็กเกิดมาได้รับอาหารที่ไม่ครบหมู่ด้านโภชนาการ ได้รับอาหารที่ไม่มีคุณภาพ หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้เกิดความบกพร่องต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ในทางตรงกันข้ามถ้าเด็กได้รับอาคารครบหมู่ อาหารมีคุณภาพ เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จะทำให้เด็กเจริญเติบโตสมวัย มีพัฒนาการด้านร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์

    ภาพที่ 1.7 อาหารจัดเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่มีส่วนในการกำหนดบุคลิกภาพของบุคคล
    ภาพที่ 1.7 อาหารจัดเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่มีส่วนในการกำหนดบุคลิกภาพของบุคคล

    2.2 สิ่งแวดล้อมทางสังคม เช่น ความรัก ความอบอุ่น ความเอาใจใส่ที่ได้รับจากบิดามารดา การอบรมสั่งสอน การลงโทษ หรือการให้รางวัล มีผลต่อการพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์และสังคม เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีความรักใคร่กลมเกลียว แบ่งเบาภาระของกันและกัน พร้อมที่จะฝ่าฟันไปพร้อมกัน และครอบครัวที่มีความพร้อมสมบูรณ์ มักเพียบพร้อมด้วยสิ่งที่ก่อให้เกิดการพัฒนามากมาย เช่น หนังสือ เกม หุ่นจำลอง รูปภาพ ของเล่น ต่าง ๆ จึงได้เปรียบเด็กที่มาจากครอบครัวที่ยากจนและขาดแคลน

    ภาพที่ 1.8 ความรัก ความอบอุ่นการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวมีผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล
    ภาพที่ 1.8 ความรัก ความอบอุ่นการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวมีผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล

    2.3 โรงเรียนและสังคมภายนอก ละแวกบ้านที่เด็กอาศัยอยู่ โรงเรียนที่เด็กเรียน เพื่อนที่เด็กคบด้วย ล้วนมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพทั้งสิ้น การได้อาศัยอยู่ในชุมชนที่ดีมีระเบียบ ได้รับการอบรม       สั่งสอนจากโรงเรียนที่ดี มีครูเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติที่ดี และได้คบเพื่อนที่ดี เด็กก็จะได้รับสิ่งดี ๆในทางตรงกันข้าม หากเด็กได้พบแต่เพื่อนเกเร อยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม พบกับตัวอย่างที่ไม่ดี พฤติกรรมของเด็กก็จะกลายเป็นคนไม่ดีเช่นเดียวกัน

    ภาพที่ 1.9 การได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดีจากโรงเรียน ส่งผลต่อบุคลิกภาพที่ดีของบุคคล
    ภาพที่ 1.9 การได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดีจากโรงเรียน ส่งผลต่อบุคลิกภาพที่ดีของบุคคล

    2.4 การเจ็บป่วย การเจ็บป่วยทำให้สุขภาพของเด็กเสียไป จนอาจเกิดการขาดความมั่นใจ   ไม่กล้าแสดงออก นอกจากนี้แล้วการขาดสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตก็ทำให้เด็กขาดความมั่นใจได้เช่นเดียวกัน เช่น เด็กที่สวมใส่เสื้อผ้าที่สกปรก ขาดวิ่น มักถูกล้อเลียนและรู้สึกมีปมด้อย การจะช่วยขจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไป จึงควรช่วยกันเอาใจใส่ต่อสุขภาพของเด็กให้มากขึ้น เช่น ให้เด็กทานอาหารที่มีคุณค่า ได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ดื่มน้ำที่บริสุทธิ์ อยู่ในบ้านเรือนที่สะอาด แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสะอาด เหล่านี้จะส่งผลให้เด็กเกิดความภูมิใจและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

    ภาพที่ 1.10 เด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่ การแต่งกายสะอาด สมวัย
    ภาพที่ 1.10 เด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่ การแต่งกายสะอาด สมวัย

    2.5 ประสบการณ์ เป็นสิ่งที่บุคคลได้ประสบหลังจากที่คลอดออกมาจากครรภ์มารดา ซึ่ง   แต่ละคนได้รับทั้งประสบการณ์ที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ดังนี้

    2.5.1 ประสบการณ์ร่วม คือ ประสบการณ์ที่คนอยู่ในแวดวงเดียวกันได้รับเหมือนกัน เช่น ค่านิยมทางสังคม วัฒนธรรม บทบาททางเพศ ความเชื่อ ศาสนา ซึ่งก็จะทำให้คนในสังคมเดียวกันปฏิบัติเหมือน ๆ กันหากปฏิบัติผิดไปจากนี้จะถูกมองว่าแปลกออกไปจากกลุ่ม

    ภาพที่ 1.11 การนับถือศาสนาที่แตกต่าง ทำให้การแต่งกายแตกต่างกันออกไป
    ภาพที่ 1.11 การนับถือศาสนาที่แตกต่าง ทำให้การแต่งกายแตกต่างกันออกไป

    2.5.2 ประสบการณ์เฉพาะอย่าง คือ บุคคลย่อมมีประสบการณ์เฉพาะอย่างที่แตกต่าง    กันออกไป ประสบการณ์ที่เขาได้รับในช่วงชีวิตหนึ่ง อาจเป็นประสบการณ์ที่ทุกข์ระทม เช่น บ้านถูก      ไฟไหม้ ประสบอุบัติเหตุ ได้รับภัยจากธรรมชาติจนทำให้ครอบครัวหมดตัวและต้องจากบุคคลอันเป็น ที่รัก บางคนเคยได้รับประสบการณ์ที่ประทับใจ เช่น ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันต่าง ๆ ได้พบบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งพลัดพรากจากกันมานาน ฯลฯ เหล่านี้มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพทั้งสิ้น

    ภาพที่ 1.12 ประสบการณ์เฉพาะอย่างในด้านที่ดี มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของบุคคล
    ภาพที่ 1.12 ประสบการณ์เฉพาะอย่างในด้านที่ดี มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของบุคคล

    2.5.3 ความพยายามที่จะปรับปรุงบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล บุคลิกภาพที่ได้รับจากพันธุกรรมหรือได้รับจากสิ่งแวดล้อมนั้น บางครั้งอาจยังมีข้อบกพร่องที่จะต้องได้รับการปรับปรุงบุคคลจึงพยายามจะให้ปรับเพื่อให้มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น เช่น ผู้ที่เกิดมาร่างกายอ่อนแอก็จะพยายามออกกำลังกายรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ หรือเมื่อคนเราได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ความคิด ค่านิยม หรือเจตคติอาจเปลี่ยนไป เช่น บางคนเกิดมาในสังคม

    อันไม่พึงประสงค์ทำให้พฤติกรรมเบี่ยงเบนไป ต่อมาอาจมองเห็นพฤติกรรมเลวร้ายของตนจึงกลับตัวเป็นคนดี บางคนเมื่อได้เข้าสังคมและได้รับคำทักท้วงจากเพื่อน หรือครู อาจารย์ชี้ให้เห็นถึงบุคลิกภาพส่วนที่บกพร่อง ก็จะปรับปรุงส่วนที่บกพร่องนั้น

    จึงอาจกล่าวได้ว่าบุคลิกภาพเป็นส่วนที่สามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงได้ เช่น คนที่ใจร้อนอาจทำให้ใจเย็นลง คนที่ชอบเอะอะโวยวายอาจปรับปรุงให้มีความสุขุมมากขึ้น คนที่เห็นแก่ตัวอาจรู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนอ้วนก็ทำให้ผอมลงได้ หรือคนผอมก็ทำให้อ้วนได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงที่จะพยายามปรับปรุงบุคลิกภาพของแต่ละคน

ที่มา:sites.google.com/site/ktisana1/

บทความแนะนำ หมวดหมู่: ไลฟ์สไตล์
จำนวนคอมเมนต์ของโพสต์ ID 173300: 446