องค์กรธุรกิจ
ความหมายขององค์กรธุรกิจ หมายถึง องค์กรที่ทำกิจกรรมทางธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคและเพื่อหวังผลกำไร
องค์กรธุรกิจมีกี่ประเภท อะไร บ้าง
รูปแบบขององค์กรธุรกิจ
- กิจการเจ้าของคนเดียว
- ห้างหุ้นส่วน
- บริษัทจำกัด
- บริษัทมหาชนจำกัด
- สหกรณ์
- บริษัทข้ามชาติ
- รัฐวิสาหกิจ
- กิจการแฟรนไชส์
1.กิจการเจ้าของคนเดียว
กิจการเจ้าของคนเดียว คือ กิจการที่มีบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของหรือลงทุนคนเดียว ควบคุมการดำเนินเองทั้งหมด เมื่อกิจการประสบผลสำเร็จมีผลกำไรก็จะได้รับผลประโยชน์เพียงคนเดียว ในขณะเดียวกันก็ยอมรับการเสี่ยงภัยจากการขาดทุนเพียงคนเดียวเช่นกัน กิจการประเภทนี้มีอยู่ทั่วประเทศจำนวนมาก ได้รับความนิยมสูงสุดและเป็นธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุด การดำเนินงานไม่สลับซับซ้อน มีความคล่องตัวสูงในการตัดสินใจดำเนินงาน กิจการมีขนาดเล็กกว่าธุรกิจประเภทอื่น ตัวอย่างกิจการประเภทนี้ เช่น หาบเร่แผงลอย ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง ร้านเสริมสวย ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า การทำไร่ การทำนา เป็นต้น
ลักษณะของกิจการเจ้าของคนเดียว
- มีเจ้าของกิจการเพียงคนเดียว ใช้เงินลงทุนน้อย
- เจ้าของกิจการมีความรับผิดชอบในหนี้สินทั้งหมดไม่จำกัดจำนวน เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์สินของเจ้าของได้ ถ้าทรัพย์สินของกิจการไม่เพียงพอชำระหนี้
- เจ้าของกิจการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งผลกำไรและผลขาดทุนเพียงคนเดียว
- การควบคุมการดำเนินงานโดยเจ้าของกิจการคนเดียว
ข้อดีและข้อเสียของกิจการเจ้าของคนเดียว
ข้อดี
- จัดตั้งง่ายใช้เงินทุนน้อย
- มีอิสระในการตัดสินใจดำเนินงานโดยเจ้าของกิจการเพียงคนเดียว ทำให้เกิดความรวดเร็วคล่องตัวในการดำเนินงาน
- ผู้ประกอบการได้รับผลกำไรทั้งหมดเพียงคนเดียว
- รักษาความลับของกิจการได้ดี เพราะผู้รู้มีเพียงคนเดียว
- มีข้อบังคับทางกฎหมายน้อย
- การเลิกกิจการทำได้ง่าย
ข้อเสีย
- การขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้นทำได้ยาก เพราะเงินทุนมีจำกัด และถ้าต้องการกู้ยืมเงินจากภายนอกจะทำได้ยากเพราะขาดหลักประกัน
- การตัดสินใจโดยเจ้าของกิจการเพียงคนเดียวอาจมีข้อผิดพลาดได้ง่าย
- ถ้ามีผลขาดทุน ผู้ประกอบการรับผลขาดทุน และรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการไม่จำกัดจำนวนเพียงคนเดียว
- ระยะเวลาดำเนินงานมักไม่ยืนยาว ขึ้นอยู่กับเจ้าของกิจการ ถ้าเจ้าของกิจการป่วยหรือเสียชีวิตอาจหยุดชะงักหรือเลิกกิจการ
- ความสามารถในการคิดและบริหารงานมีจำกัด เพราะเกิดจากเจ้าของเพียงคนเดียว
2.ห้างหุ้นส่วน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 บัญญัติว่า “ห้างหุ้นส่วน คือ สัญญา ซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากัน เพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แก่กิจการที่ทำนั้น” จากบทบัญญัติดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า กิจการห้างหุ้นส่วน คือ กิจการที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันลงทุนและดำเนินกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน ซึ่งธุรกิจประเภทนี้สืบต่อมาจากธุรกิจเจ้าของคนเดียว เมื่อกิจการดำเนินงานก้าวหน้าขึ้น ต้องการเงินทุนและการจัดการเพิ่มขึ้น จึงต้องหาบุคคลที่ไว้วางใจได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงาน ทำให้กิจการมีขนาดใหญ่ขึ้นการบริหารงานมีประสิทธิภาพมีสูงกว่าเดิม
3.บริษัทจำกัด
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1096 บัญญัติว่า “บริษัทจำกัด คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าหุ้นเท่า ๆ กัน โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ” จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ การประกอบกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัดนี้เป็นที่นิยมมาก เพราะการประกอบธุรกิจส่วนใหญ่มักต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก การระดมเงินทุนกิจการในรูปแบบนี้จัดทำได้ง่ายและได้จำนวนมาก นอกจากเงินทุนที่ได้จะได้จากเจ้าของกิจการผู้เริ่มก่อตั้งแล้ว ยังมีการระดมเงินทุนจากบุคคลทั่วไปด้วย รวมทั้งการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพโดยผู้บริหารที่มีความสามารถร่วมกันดำเนินกิจการ ส่งผลให้เป็นกิจการที่มีความมั่นคงและน่าเชื่อถือมากประเภทหนึ่ง
ลักษณะของบริษัทจำกัด
ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 มาตรา 1096 ได้บัญญัติว่า บริษัทจำกัด คือ บริษัทประเภทที่จัดตั้งขึ้นด้วยการแบ่งทุนเป็นหุ้น มีมูลค่าเท่า ๆ กัน ผู้ถือหุ้นต่างรับผิดชอบจำกัดไม่เกินจำนวนเงินที่ตนส่งใช้ให้ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ
- ความเป็นเจ้าของ เนื่องจากลักษณะของบริษัทมีการแบ่งทุนออกเป็นหุ้น ผู้ซื้อหุ้นของบริษัทเรียกว่า “ผู้ถือหุ้น” จะมีฐานะเป็นเจ้าของหุ้นไม่ใช่เจ้าของกิจการแต่มีสิทธิได้รับประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทคือ “เงินปันผล” ผู้เป็นเจ้าของกิจการก็คือนิติบุคคลที่เป็นบริษัทจำกัดนั่นเอง
- การก่อตั้ง บริษัทจำกัดมีขั้นตอนในการก่อตั้งตามกฎหมาย ดังนี้
- มีบุคคลอย่างน้อย 7 คน มารวมกันจัดตั้ง บุคคลกลุ่มนี้เรียกว่า “คณะผู้ก่อการ”
- ทำหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งมีรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับบริษัทที่จัดตั้งขึ้น ได้แก่ ชื่อบริษัท สถานที่ตั้งวัตถุประสงค์ ชื่อผู้ก่อการ อาชีพผู้ก่อการ ชนิดของหุ้นที่ออกจำหน่าย จำนวนหุ้น มูลค่าหุ้นและนำหนังสือบริคณห์สนธิไปจดทะเบียนที่กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์
- คณะผู้ก่การจะต้องทำหนังสือชี้ชวน เพื่อให้มีผู้สนใจมาซื้อหุ้นของบริษัทและจะต้องดำเนินการให้มีผู้มาจองหุ้นของบริษัทจนครบจำนวนหุ้นที่ขอจดทะเบียน
- เมื่อมีผู้จองหุ้นจนครบทุกหุ้นแล้ว บริษัทเรียกผู้จองหุ้นทุกคนประชุมจัดตั้งบริษัท โดยในที่ประชุมจะต้องเลือกตั้งกรรมการบริหารบริษัทอย่างน้อย 1 คน และกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรรมการในการกระทำการแทนบริษัท และดำเนินการเรียกเก็บค่าหุ้นครั้งแรกอย่างน้อย 25% ของมูลค่าหุ้น
- หลังจากเรียกเก็บค่าหุ้นครั้งแรกแล้ว จึงไปขอจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเพื่อให้มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยนำสำเนาการประชุม หนังสือบริคณห์สนธิระเบียบข้อบังคับไปขอจดทะเบียน
- ต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทจำกัด
- ต้องมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ภายในราชอาณาจักร
- จำนวนเงินทุนที่ต้องใช้ ทุนของบริษัทจำกัดจะได้มาเนื่องจากการนำใบหุ้นออกจำหน่าย กฎหมายระบุว่ามูลค่าหุ้นจะต้องมีมูลค่าหุ้นละเท่า ๆ กัน เงินทุนของบริษัท แบ่งได้ดังนี้
- ทุนจดทะเบียน (Authorized Capital) คือ จำนวนทุนทั้งสิ้นที่ได้ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ
- ทุนชำระแล้ว (Paid – up Capital) คือ จำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นได้ชำระค่าหุ้นให้แก่บริษัทตามที่บริษัทได้เรียกร้องให้ชำระแล้วหุ้นของบริษัทจำกัด แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
-
- หุ้นสามัญ(Common Stock) คือ หุ้นที่มีผู้ลงจองหุ้นด้วยเงิน เมื่อเริ่มตั้งแต่มีการให้จองหุ้น ผู้ถือหุ้นสามัญมีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมทุกเรื่อง มีสิทธิได้เงินปันผล และได้รับคืนทุนเมื่อบริษัทเลิกดำเนินกิจการ
- หุ้นบริมสิทธิ(Preferred Stock) คือ หุ้นที่มีสิทธิพิเศษเหนือหุ้นสามัญโดยมีสิทธิได้เงินปันผลและคืนทุนก่อนหุ้นสามัญ แต่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุม
- ความรับผิดชอบและการบริหารงาน ในที่ประชุมจัดตั้งบริษัท ที่ประชุมใหญ่จะต้องออกเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการของบริษัทซึ่งจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นผู้มีสิทธิแต่งตั้งและถอดถอนคณะกรรมการได้ โดยแต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการ
- หน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ตามกฎหมาย มีดังนี้
-
- 1. ดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัท
2. ควบคุมการชำระเงินค่าห้นของผู้จองหุ้น
3. จัดทำบัญชีและจัดเก็บรักษาบัญชีและเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด
4. จ่ายเงินปันผลและดอกเบี้ย
5. ปฏิบัติตามมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น
6. กรรมการของบริษัทจะทำการค้าแข่งขันกับบริษัทของตนเองไม่ได้
7. มีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้ระบุไว้ในข้อบังคับของบริษัท สำหรับผู้ถือหุ้นมีสิทธิเป็นเจ้าของหุ้นตามที่ตกลงซื้อไว้ แต่ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของสินทรัพย์ของบริษัท
- ผลตอบแทนจากการลงทุน ผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับคือส่วนแบ่งจากกำไร เรียกว่า เงินปันผล หรือผลประโยชน์อื่นใดตามที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ โดยปกติผลกำไรของบริษัทจะไม่นำมาแบ่งเป็นเงินปันผลทั้งหมด ส่วนหนึ่งจะกันสะสมไว้เพื่อบริษัทนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อไว้ขยายโรงงาน เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ เพื่อผลขาดทุนในภายหน้า กำไรส่วนที่กันสะสมไว้นั้นเรียกว่า เงินสำรอง (Reserves)
- การควบคุมการบริหารงาน การบริหารงานของบริษัทจะอยู่ในรูปของคณะกรรมการซึ่งจะมีการบริหารงานที่กระจายงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นระบบและมีขั้นตอนที่ถูกต้อง โดยกฎหมายกำหนดให้จะต้องมีการตรวจสอบบัญชีของบริษัทปีละครั้ง โดยมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองงบดุล และบัญชีกำไรขาดทุน ยื่นต่อนายทะเบียนบริษัท
- การประเมินผลการดำเนินงาน บริษัทจะทำการประเมินผลการดำเนินงานโดยดูจากงบการเงิน คือ งบกำไรขาดทุน และงบดุลของบริษัท
- การขยายกิจการ บริษัทสามารถขยายกิจการได้ด้วยการขอจดทะเบียนเพิ่มทุนหรือกู้ยืมจากธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น
- การเลิกกิจการ
- บริษัทจำเป็นต้องเลิกกิจการเนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้
-
- 1. ถ้าในการจัดตั้งบริษัทระบุเพื่อทำกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เมื่อเสร็จสิ้นกิจการนั้นแล้ว บริษัทก็ต้องเลิกกิจการ
2. ถ้าในการจัดตั้งบริษัทกำหนดระยะเวลาของการดำเนินงานไว้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ระบุ บริษัทก็ต้องเลิกกิจการ
3. ถ้าในข้อบังคับของบริษัทระบุเหตุที่บริษัทต้องเลิกไว้ เมื่อเกิดเหตุนั้นบริษัทก็ต้องเลิกกิจการ
4. เมื่อมีมติพิเศษจากผู้ถือหุ้นให้เลิกบริษัท
5. เมื่อบริษัทจดทะเบียนตั้งบริษัทมาแล้ว 1 ปีเต็ม โดยบริษัทไม่ได้เริ่มดำเนินกิจการ หรือหยุดดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม
6. เมื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทลดลงจนเหลือไม่ถึง 7 คน
7. เมื่อบริษัทล้มละลาย
ข้อดีของบริษัทจำกัด
- สามารถจัดหาเงินทุนได้จำนวนมากตามที่ต้องการ โดยการออกหุ้นจำหน่ายเพิ่ม หรือจัดหาโดยกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะได้รับความเชื่อถือมากกว่ากิจการประเภทอื่น
- การดำเนินกิจการบริษัทไม่จำกัดระยะเวลาตามอายุของผู้ถือหุ้น ดังนั้นระยะเวลาในการดำเนินกิจการจึงยาวกว่าการดำเนินกิจการประเภทอื่น
- ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบเฉพาะมูลค่าหุ้นส่วนที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบเท่านั้น โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินใด ๆ ของบริษัท
- การบริหารงานสามารถหาผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์จัดการแทนได้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบริหารงาน
- ผู้ถือหุ้นของบริษัทสามารถโอนหรือขายหุ้นให้ผู้ใดก็ได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากบริษัทก่อน
ข้อจำกัดของบริษัทจำกัด
- การจัดตั้งบริษัทมีขั้นตอนตามกฎหมายที่ยุ่งยาก
- กิจการบริษัทเนื่องจากต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ถือหุ้นและบุคคลภายนอกทราบจึงไม่อาจรักษาความลับได้
- เนื่องจากในการดำเนินการของบริษัทจำกัด มีผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ บริษัทและพนักงาน ดังนั้นในการปฏิบัติงานอาจจะมีบางส่วนที่ขาดความตั้งใจในการทำงานเพราะไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการเอง
- การเสียภาษีของกิจการประเภทบริษัทจะเสียภาษีค่อนข้างสูงและซ้ำซ้อนคือบริษัทจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากเจ้าของกิจการ ดังนั้น จะต้องเสียภาษีนิติบุคคลเมื่อบริษัทจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ในฐานะผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลธรรมดาต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาอีกด้วย
4.บริษัทมหาชนจำกัด
ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2511 บริษัทมหาชนจำกัดมีโครงสร้างเหมือนกับบริษัทจำกัด คือ มีผู้ลงทุนเรียกว่า ผู้ถือหุ้น รับผิดชอบจำกัดไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังไม่ชำระมีคณะกรรมการเป็นผู้บริหาร แต่มีลักษณะบางประการที่แตกต่างจากบริษัทจำกัด
ลักษณะของบริษัทมหาชนจำกัด
- มีกลุ่มผู้ก่อการเป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป และมีกรรมการตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
- มีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป โดยผู้ถือหุ้นคนหนึ่งถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 0.6 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายทั้งหมดรวมกัน และไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด ส่วนหุ้นจำนวนที่เหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะถือไว้ได้รายละไม่เกินร้อยละ10
- ต้องมีทุนที่ชำระด้วยตัวเงินไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหุ้นละเท่า ๆ กันและจะต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 20 บาท และไม่เกินหุ้นละ 100บาท
5.สหกรณ์
พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 ได้ให้ความหมายของสหกรณ์ไว้ดังนี้ “สหกรณ์ หมายความว่า คณะบุคคล ซึ่งรวมกันดำเนินกิจการเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้” จากความหมายของสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ จะเห็นได้ว่า สหกรณ์ คือธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่จัดตั้งและดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลที่มีความประสงค์อย่างเดียวกันร่วมกันจัดตั้งลงทุน ดำเนินการและเป็นเจ้าของร่วมกันด้วยความสมัครใจ ทำหน้าที่ในธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสมาชิก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและสังคมในหมู่สมาชิก รวมทั้งรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของสมาชิกให้ดีขึ้น
ลักษณะของกิจการสหกรณ์
- เป็นการร่วมทุนของบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยไม่จำกัดจำนวน
- เป็นการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของบุคคลที่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยไม่คำนึงถึงสินทรัพย์
- ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ เพราะสหกรณ์ดำเนินงานในรูป “โดยสมาชิกเพื่อสมาชิก”
- สมาชิกทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการดำเนินงานสหกรณ์ เพราะการดำเนินงานเป็นไปในรูปแบบประชาธิปไตยสมาชิกแต่ละคนมีสิทธิออกเสียงได้
- มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่สมาชิก โดยไม่คำนึงถึงผลกำไร
- การจัดตั้งมีการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการสหกรณ์ ไม่ได้อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ประเภทของสหกรณ์
กิจการสหกรณ์มีหลายประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะการก่อตั้งและการดำเนินงานแตกต่างกันโดยในประเทศไทยได้แบ่งประเภทของสหกรณ์ตามประกาศของนายทะเบียนสหกรณ์เกี่ยวกับเรื่องการจัดประเภทสหกรณ์ตามกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกตามความในพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2516 กำหนดประเภทสหกรณ์ที่รับจดทะเบียนรวมมี 6 ประเภท ดังนี้
- สหกรณ์การเกษตร เป็นสหกรณ์ที่มีสมาชิกประกอบด้วยเกษตรกร มีหน้าที่ในการจัดหาและให้บริการแก่สมาชิกในด้านการผลิตการเกษตร เช่น การจัดหาเงินทุน การจัดหาวัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ มาจำหน่ายให้สมาชิกในราคาถูก การรวบรวมผลิตผลออกจำหน่าย และการแปรรูปผลิตผลออกจำหน่ายให้ได้ราคาดี
- สหกรณ์การประมง จัดตั้งขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมง ซึ่งส่วนใหญ่อยู้ในจังหวัดชายทะเลทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและประกอบอาชีพด้านการประมง รวมถึงการจัดหาเงินทุนแลอุปกรณ์เกี่ยวกับการประมงจำหน่ายให้แก่สมาชิกในราคาถูก และการจัดการด้านการตลาดเพื่อให้สามารถจำหน่ายผลิตผลให้ได้ราคาดี จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ 2492 ที่อำเภอพรหมพราม จังหวัดพิษณุโลก มีชื่อว่า “สหกรณ์ประมงพิษณุโลก จำกัด” เป็นสหกรณ์ประมงน้ำจืด เดิมสหกรณ์ประมงได้รวมอยู่กับสหกรณ์การเกษตร ปัจจุบันได้แยกสหกรณ์ประมงออกจากสหกรณ์การเกษตร เพราะว่าเป็นอาชีพที่แตกต่างกันนับว่าเป็นการให้ความสำคัญแก่อาชีพประมงเป็นอย่างมาก
- สหกรณ์นิคม เป็นสหกรณ์ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาหรือจัดสรรที่ดินให้แก่สมาชิกในการประกอบอาชีพ รวมถึงการจัดหาและอำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพให้แก่สมาชิก เช่น การจัดหาเงินทุนอุปกรณ์การผลิตและเครื่องมือการผลิตมาจำหน่าย ตลอดจนการจัดหาน้ำและการจัดการด้านการตลาดให้อีกด้ว
- สหกรณ์ร้านค้า เป็นสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการด้านการจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคจำหน่ายให้แก่สมาชิกในราคายุติธรรม ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่มีประชาชนหนาแน่น ในสถาบันศึกษา เป็นต้น
- สหกรณ์บริการ เป็นสหกรณ์ที่ให้บริการแก่สมาชิกในด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น สหกรณ์ไฟฟ้า สหกรณ์แท็กซี่ รถรับจ้าง สหกรณ์การเคหสถาน เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาบริการอย่างใดอย่างหนึ่งที่สมาชิกต้องการ และจะเรียกเก็บค่าบริการที่สหกรณ์จัดนั้น จากสมาชิกตามส่วนที่แต่ละคนใช้ประโยชน์ เมื่อสมาชิกหมดความจำเป็นที่จะใช้บริการอาจเลิกได้ เช่น สหกรณ์การไฟฟ้า เมื่อใดท้องที่นั้มีไฟฟ้าใช้ สมาชิกก็หมดความจำเป็นที่จะใช้บริการของสหกรณ์ สหกรณ์ก็จะเลิกได้
- สหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์ธนกิจ เป็นสหกรณ์ที่สมาชิกร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการออมเงินในหมู่สมาชิก เพื่อให้สมาชิกได้กู้ยืมเงินในยามจำเป็นด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนให้บริการทางการเงินแก่สมาชิก โดยมีเงินปันผลคืนตามส่วนให้อีก้วย สหกรณ์ประเภทนี้ได้รับความนิยมและจัดตั้งขึ้นในหมู่ผู้มีรายได้ประจำเช่น ข้าราชการ ครู ตำรวจ รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ
6.รัฐวิสาหกิจ
รัฐวิสาหกิจ หมายถึง องค์การของรัฐบาล หน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของหรือบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานธุรกิจของรัฐบาลมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ 50 มีการบริหารงานอยู่ระหว่างระบบราชการและระบบธุรกิจ สาเหตุที่รัฐบาลเข้าดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ
- เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม กิจการบางประเภทเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญต่อส่วนรวม ถ้าเอกชนดำเนินการอาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับการบริการที่ดีและเป็นธรรม
- เพื่อป้องกันการผูกขาด การให้เอกชนดำเนินการโดยให้มีการแข่งขันเสรี ผู้ผลิตรายย่อยอาจสู้ผู้ผลิตรายใหญ่ไม่ได้ทำให้เกิดการผูกขาดทำให้ประชาชนถูกเอาเปรียบได้
- กิจการบางประเภทต้องอาศัยการลงทุนที่สูงมาก เช่น การผลิตไฟฟ้าต้องลงทุนสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำเครื่องมือเครื่องจักร และกำลังคนจำนวนมาก ซึ่งเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้
- เพื่อหารายได้เข้ารัฐ รัฐบาลจำเป็นต้องหารายได้เข้ารัฐนอกจากการเก็บภาษีอากรเพื่อนำไปใช้จ่ายในการทำนุบำรุง และพัฒนาประเทศชาติ
- เพื่อความมั่นคงของประเทศ ในยามสงครามสินค้าบางชนิดมีความจำเป็นต่อส่วนรวม เพื่อเป็นการป้องกันการขาดแคลนในยามฉุกเฉิน รัฐจำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการเอง ได้แก่ กิจการเกี่ยวกับการผลิตเชื้อเพลิง ยารักษาโรค เป็นต้น
- เพื่อเป็นการส่งเสริมเอกลักษณ์ วัฒนธรรมและเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศชาติ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
การจัดตั้ง การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจทำได้ 4 ลักษณะ คือ
- จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ โดยมีทุนทั้งสิ้นเป็นของรัฐ เช่น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฯลฯ
- จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกา โดยมีทุนทั้งสิ้นเป็นของรัฐ เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ องค์การสวนยาง องค์การสวนสัตว์ ฯลฯ
- จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยรัฐบาลเป็นเจ้าของทั้งสิ้น หรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 เช่น บริษัทการบินไทย บริษัทไม้อัดไทย บริษัทขนส่ง จำกัด ฯลฯ
- จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เช่น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โรงงานยาสูบ สถานธนานุเคราะห์ ฯลฯ
7.บริษัทข้ามชาติ
ปัจจุบันโลกเจริญก้าวหน้าอย่างมาก การติดต่อดำเนินงานธุรกิจกระทำกันได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก เช่น บริษัทมิตซูบิชิ จำกัด ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีสาขาการผลิตและจำหน่ายกระจายอยู่ทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งแต่ละแห่งอาจทำหน้าที่เฉพาะอย่าง เป็นต้น
บริษัทข้ามชาติ หมายถึง องค์กรการผลิตอย่างหนึ่งที่มีทุนจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียต่อประเทศที่ได้รับการลงทุนจากการจัดตั้งบริษัทดังกล่าว จำแนกผลดังกล่าวออกได้ดังนี้
- ผลดีของบริษัทข้ามชาติ ทำให้ประเทศที่ได้รับการลงทุนมีเงินลงทุนเข้าประเทศมากขึ้น มีการจ้างแรงงานของประชาชนในประเทศเพิ่มขึ้นและได้รับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัยนำมาใช้พัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น
- ผลเสียของบริษัทข้ามชาติ ทรัพยากรของประเทศที่ได้รับการลงทุนลดลง เสียดุลการชำระเงินในระยะเวลายาว เนื่องจากประเทศที่ลงทุนจะนำเงินออกจากประเทศผู้รับลงทุน เมื่อการดำเนินงานมีผลกำไร
8.กิจการแฟรนไชส์ (Franchise)
ตามรูปศัพท์ แฟรนไชส์ หมายถึง สัมปทาน ดังนั้น กิจการแฟรนไชส์ อาจเรียกอีกอย่างว่า ธุรกิจสัมปทาน คือธุรกิจที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่าบุคคล 2 กลุ่มขึ้นไปหรือมากกว่า ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบต่างกัน แต่จะส่งเสริมซึ่งกันและกันในระบบธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์จะกระจายสินค้าหรือบริการไปสู่ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ
ในปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์เป็นที่นิยมมาก มีกิจการหลายกิจการที่กำเนิดจากธุรกิจแฟรนไชส์ เพราะการดำเนินงานในธุรกิจประเภทนี้ จะมีบริษัทแม่คอยแนะนำให้ความช่วยเหลือเป็นผู้เตรียมใบอนุญาตเทคนิคการผลิต การบริหารงาน ขายให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์หรือผู้ซื้อสัมปทาน เพื่อซื้อสทธิในการเป็นเจ้าของ และดำเนินงานในลักษณะเดียวกับที่บริษัทแม่ได้วางรูปแบบไว้ ซึ่งธุรกิจที่เป็นบริษัทแม่ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ มีแนวทางในการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไปที่มีความต้องการจะเป็นเจ้าของธุรกิจดังกล่าว ดังนั้น จากลักษณะของธุรกิจแฟรนไชส์จึงมีผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทนี้ 2 ฝ่าย คือ
- แฟรนไชซอร์ (Franchisors) หรือเจ้าของธุรกิจ คือผู้ให้สัมปทาน
- แฟรนไชซี (Franchisees) คือ ผู้ขอรับสัมปทาน
ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย มีทั้งส่วนที่เป็นสาขาจากต่างประเทศ เช่น กิจการจำหน่ายสินค้าประเภทจานด่วน (Fast Food) ได้แก่ เคเอฟซี แมคโดนัลด์ พิซซ่าฮัท ฯลฯ กิจการจำหน่ายสินค้าสะดวกซื้อ ได้แก่ เซเว่น-อีเลฟเว่น ไทเกอร์มาร์ต สตาร์ชอร์ป ฯลฯ และธุรกิจแฟรนไชส์ที่กำเนิดโดยคนไทยเอง เช่น เลมอนฟาร์ม ลูกชิ้นแชมป์ ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ข้าวมันไก่เจมส์ ฯลฯ
ประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์
ธุรกิจแฟรนไชส์หรือธุรกิจแบบสัมปทานมี 2 ประเภท คือ
- ธุรกิจแฟรนไชส์หรือแบบสัมปทานที่ใช้สินค้าและชื่อการค้า เป็นรูปแบบธุรกิจที่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย หรือผู้ให้สัมปทาน หรือแฟรนไชซอร์ให้สิทธิแก่ผู้รับสัมปทานหรือตัวแทนจำหน่ายหรือแฟรนไชซีในการจำหน่ายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งของผู้ให้สัมปทาน โดยผู้รับสัมปทานจะได้รับชื่อสินค้า เครื่องหมายการค้า หรือสินค้าจากผู้ให้สัมปทาน โดยถือเสมือนว่าเป็นผู้จำหน่ายในสายผลิตภัณฑ์เดียวกับผู้ให้สัมปทาน เช่น ตัวแทนจำหน่ายน้ำอัดลมโคคา-โคลา สถานีบริการน้ำมันเซลล์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ฟอร์ด เป็นต้น
- ธุรกิจแฟรนไชส์หรือแบบสัมปทานที่ใช้รูปแบบทางธุรกิจ เป็นรูปแบบธุรกิจที่ผู้ให้สัมปทานให้สิทธิแก่ผู้รับสัมปทานในการขายสินค้าหรือบริการโดยใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ให้สัมปทาน ถือว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าร่วมกันในการดำเนินธุรกิจ มักจะเป็นระบบการดำเนินธุรกิจของผู้ให้สัมปทานที่ประสบความสำเร็จสูง เช่น พิซซ่าฮัท เคเอฟซี เซเว่น-อีเลฟเว่น โดยการดำเนินธุรกิจประเภทนี้จะถูกกำหนดลักษณะการดำเนินงานให้เป็นไปในแนวคิดเดียวกันระหว่างผู้ให้สัมปทานกับผู้รับสัมปทาน ทั้งด้านกลยุทธ์ แผนการตลาด มาตรฐานการปฏิบัติงานและการควบคุมคุณภาพ เป็นต้น
คุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจ
ผู้ประกอบธุรกิจหรือนักธุรกิจ (Businessman) คือ บุคคลผู้จัดตั้งธุรกิจและบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งจะต้องติดต่อกับบุคคลอื่นตลอดเวลาเพื่อผลประโยชน์ต่อธุรกิจตน จึงต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- มีความเชื่อมั่นในตนเอง คือ มีความรู้สึกว่าสามารถทำทุกอย่างที่ต้องการหรือที่อยากทำได้ หากยิ่งประสบความสำเร็จก็จะรู้สึกมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น ซึ่งการมีความเชื่อมั่นในตนเองนี้ทำให้นักธุรกิจสามารถทำงานทุกอย่างด้วยความมั่นใจ มีความอยากทำและมีความตั้งใจในการทำ อันทำให้เกิดผลงานออกมาดีตามที่ต้องการได้
- มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าทั้งด้านคำพูดและการกระทำ สร้างสรรค์ผลงานที่ดีมีคุณภาพให้ลูกค้าได้บริโภคแต่สิ่งที่ดีและมีความปลอดภัยต่อชีวิต
- มีความกตัญญูต่อลูกค้าและผู้มีบุญคุณอื่น ๆ โดยการมอบแต่สิ่งดี ๆ ให้แก่ลูกค้าและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีอย่างต่อเนื่อง
- มีความยุติธรรมในการบริหารงานและตัดสินปัญหาต่าง ๆ ด้วยความยุติธรรมในการให้โอกาสแก่ทุก ๆ ฝ่ายเท่าเทียมกัน
- มีประสบการณ์ด้านธุรกิจ การมีประสบการณ์จะทำให้มีข้อมูลในการนำมาวางแผนและบริหารงานให้มีประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี เพราะรู้ว่าสิ่งใดควรปฏิบัติและสิ่งใดควรละเว้นจึงจะทำให้การดำเนินธุรกิจบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
- มีความมั่นใจในตนเอง สามารถตัดสินใจได้ทันเวลาทันกับเหตุการณ์ และสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดี ย่อมทำให้ไม่เสียโอกาสทองในการดำเนินธุรกิจ
- มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทั้งด้านการบริหารและการจัดการทำให้ธุรกิจมีวิธีการหรือผลงานใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพดีขึ้นหรือมีประสิทธิผลมากขึ้น
- มีความรอบรู้เกี่ยวกับสภาพของตลาด เพราะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการนำมาตัดสินใจในกระบวนการผลิตและการจัดจำหน่าย เพื่อธุรกิจจะได้ปฏิบัติหรือดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดและสังคม
- มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม และมีความรับผิดชอบต่อองค์การและสังคม รวมถึงปฏิบัติต่อบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยการมีจรรยาบรรณที่ดี
นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจยังต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการทำงานได้เป็นอย่างดี ได้แก่ มีความอดทนและขยันหมั่นเพียรในการทำงาน มีความละเอียด รอบคอบในการทำงาน มีหลักการและเหตุผลที่ดีในการตัดสินใจ มีความตื่นตัวและติดตามความ เคลื่อนไหวในทุก ๆ ด้านของสังคม มีจิตสำนึกดี มีคุณธรรม มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง สดชื่นแจ่มใสในการปฏิบัติงาน มีความฉลาดและรอบรู้ในทุก ๆ ด้าน โดยการศึกษาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาความรู้ของตนเอง
อ่านบทความทั้งหมด >>> pangpond.com
บทความแนะนำ หมวดหมู่: เศรษฐกิจ
จำนวนคอมเมนต์ของโพสต์ ID 143670: 544