เครื่องดนตรีพม่า

เครื่องดนตรีพม่า ประเทศของวงดนตรีมีอะไรบ้าง 5 MUSIC บรรเลงจบ?

Click to rate this post!
[Total: 258 Average: 5]

เครื่องดนตรีพม่า

ภาพชุดวงดนตรี และเครื่องดนตรีพม่า

เครื่องดนตรีพม่า

เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงเพื่อการละครและฟ้อนรำในวงดนตรีของพม่า หรือที่เรียกว่า ซายวาย (Saing Waing) นั้น จะประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 ประเภท ได้แก่

  • คยี ( Kyay ) คือ เครื่องโลหะ เช่น ฆ้อง
  • คยู ( Kyu ) คือ เครื่องสาย เช่น พิณ
  • ทะแย ( Tayae ) คือ เครื่องหนัง เช่น กลอง
  • เลย ( Lei ) คือ เครื่องเป่า เช่น ขลุ่ย
  • เลตโขก ( Let Khoke ) คือ กรับแบบต่างๆ

ประวัติความเป็นมาดนตรีพม่า

           เอกสารที่มีการบันทึกเรื่องราวของดนตรีพม่า คือพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ถังบันทึกว่า ราชสำนักพยูได้ส่งนักดนตรีและการแสดงไปแสดงในราชสำนักจีนใน ปี ค.ศ.800 (พ.ศ. 1343) ในการแสดง นั้นมีเครื่องดนตรีถึง 14 ชนิด ลักษณะของเครื่องดนตรีที่บันทึกสอดคล้องกับลักษณะของเครื่องดนตรีในปัจจุบัน พงศาวดารดังกล่าวระบุชื่อ พิณ 2 ชนิด ชนิดหนึ่งน่าจะเป็น มิยอง จะเข้ที่มีหัวคล้ายจระเข้จริงๆ ไม่มีเครื่องดนตรี อื่นในบันทึกที่แสดงว่าคล้ายกับเครื่องดนตรีสำหรับบรรเลงนอกอาคารอย่างในปัจจุบัน เหตุที่เป็นเช่นนี้มีความเป็นไปได้ 2 กรณี คือ สมัยนั้นไม่มีเครื่องดนตรีแบบปัจจุบันหรือ ไม่ก็มีแล้วแต่ราชสำนักไม่เห็นสมควรที่จะส่งไปแสดง (Becker 1967, 1980)

           เครื่องดนตรีที่มีในอดีตแต่ปัจจุบันแทบไม่มีใครรู้จักได้แก่ ตะยอ (ซอมอญ) ซึ่ง ในปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยไวโอลิน แคนที่เรียกว่า ฮยิ่น (Hnayin) ที่ไม่มีใครรู้จัก เครื่อง ดนตรีอีกชนิดหนึ่งที่สูญไปแล้วคือ สันตะยา (Santaya) ที่ปัจจุบันใช้เรียกเปียโน ส่วน มิยอง (Mijaun) ก็ไม่มีใช้ในดนตรีพม่าแล้ว แต่ชาวรามัญในพม่ายังใช้กันอยู่ (Garfias 1985)

           ดนตรีของพม่าไม่มีหลักฐานชัดเจนจนกระทั่งปี ค.ศ. 1700 ในสมัยราชวงศ์ Kaunbaun ทางราชสำนักได้ให้การอุปถัมภ์ดนตรีอย่างดี ทำให้ดนตรีเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น ราชสำนัก ให้การอุปถัมภ์ดนตรี 2 ชนิดคือ อันยีน ตีวาย (Anyeintiwain) ดนตรี ประกอบการเต้นรำและ ขับร้องของสตรีในราชสำนัก และ ชเว โตมุยชี ตีวาย (Htwe to mui ci tiwain) ดนตรีพิธีกรรม ในราชสำนัก และดนตรีสำหรับกระบวนแห่

           ในสมัยราชวงศ์ Kuanbuan มีหลักฐานแน่นอนว่าศิลปินที่ชื่อ “ เมียวดี มินซี อู สะ ” (Myawa di Minci U Sa) หรือเรียกกันสั้นว่า วุนซีอูสะ (Wunci U Sa) ซึ่ง ถือกำเนิดทางภาคเหนือในปี 1766 มีความสำคัญมากด้านการรับเอาศิลปะไทยเข้าไว้ แล้วปรับปรุงให้เป็นแบบพม่า โดยการประสมประสานกิจกรรมดนตรีเข้ากับการทหาร ในการประพันธ์เพลงแบบฉบับ เขาได้รับพระราชานุญาตให้เรียนดนตรีกับครูดนตรีชาวไทยที่ถูกจับเป็นเชลยอยู่ก่อนแล้ว รวมทั้งศึกษาวรรณคดีและ ละครเรื่องต่างๆ เช่น รามเกียรติ์ และอิเหนา ซึ่งเป็นเรื่องราวอันเป็นที่ชื่นชอบของราชสำนักพม่า ทั้งยังได้แต่ง เพลงและดนตรีประกอบการแสดงเพื่อให้ในราชสำนักอีกด้วย และโดยการเคลื่อนไหว ทางทหารทำให้โชคชะตาของเขาผันผวนอย่างน่าอัศจรรย์ทั้งทางดีและทางร้าย ตราบจน บั้นปลายของชีวิตจึงได้รับการยกย่องอย่างสมเกียรติจากพระเจ้ามินดอง (Mindon) ใน ปีค.ศ. 1853 (Williamson 1979)[1]

           ช่วงแรกที่พม่าทั้งประเทศตกเป็นอาณานิคม คือในช่วง ค.ศ.๑๘๘๖ จนต้นศตวรรษที่ ๑๙ วงซายวายได้เริ่มซบเซาลง นักดนตรีขาดผู้อุปถัมภ์ การแสดงในงานราชสำนักหมดไป แต่การแสดงกลาง แจ้ง หรือ มเยวาย กลับได้รับความนิยมแทน โดยเฉพาะการแสดงละคร และการเล่นหุ่นชัก ในยุคนั้นเริ่มมีหนังเงียบเข้ามาฉาย จึงเกิดเพลงบรรเลงแนวใหม่ขึ้นมา เป็นเพลงประกอบหนัง เพลงโฆษณาสินค้าพื้นเมือง อาทิ ผ้าโสร่งเมืองยอ ร่มเมืองพะสิม และบุหรี่พม่า นอกจากนี้ยังมีการแต่งเพลงพุทธศาสนา พอในยุคที่พม่าต่อต้านเจ้าอาณานิคม จึงได้มีการเล่นซายวายเป็นเพลงเพื่อการปฏิวัติ หรือ เพลงทางการเมือง ในสมัยนั้นเริ่มมีการผลิตแผ่นเสียง หรือ ดัต-ปยา จึงทำให้เพลงบรรเลงซายวายกระจายไปทั่วประเทศ แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการบันทึกเสียง ซึ่งบันทึกได้เพียง ๖ นาทีต่อแผ่น เพลงบรรเลงซายวาย จึงต้องสั้นลง ซายวายจึงได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเล่นกันมา

           พอถึงยุคสังคมนิยม ซึ่งถือเป็นยุคเทปคลาสเซท ได้เกิดวงดนตรีสมัยใหม่ ที่ใช้เครื่องดนตรีตะวันตกทั้งวง ซึ่งเรียกว่าตีวาย กีตาร์เป็นเครื่องดนตรียอดนิยม เพลงจำนวนมากจึงเป็นเพลงทำนองฝรั่ง อาทิ เพลงร็อค และเพลงดิสโก อย่างไรก็ตามยังมีการพัฒนาเพลงพื้นบ้านเป็นเพลงแนวลูกทุ่ง เครื่องดนตรีหลักที่ใช้เป็นแมนดาริน ส่วนซายวายนั้นมักนิยมบรรเลงในเพลงทางศาสนาและเพลงทรงเจ้าเป็นส่วนใหญ่  พอถึงยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นยุคสมัยของซีดีรอมนั้น ได้มีการลอกทำนองเพลงต่างประเทศกันอย่างมากมาย ขณะเดียวกันเสียงของซายวายก็แทบจะเลือนหายไปจากตลาดเพลงยุคใหม่

           แม้ซายวายจะเสื่อมความนิยมในหมู่คนยุคใหม่ แต่ก็ยังได้รับการยอมรับในฐานะเป็นดนตรีคลาสสิคของพม่า เสียงของซายวายยังคงรับฟังได้ในเพลงทางพุทธศาสนา และเพลงปลุกใจ  ส่วนวงซายวายนั้น ยังหาชมได้ในงานแสดงทางวัฒนธรรม อาทิ การแสดงละคร การแสดงหุ่นชัก งานทางศาสนพิธี งานประเพณี งานรัฐพิธี และงานทรงเจ้า เป็นต้น ปัจจุบันรัฐบาลพม่าได้ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์วงซายวายเช่นเดียวกับการแสดงพื้นบ้านอื่นๆ โดยจัดให้มีการประกวดกันทุกปี อีกทั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐจะออกอากาศเพลงบรรเลงซายวายเป็นประจำ( อรนุช  นิยมธรรม)[2]
          ประเภทของเครื่องดนตรี ความแตกต่างของดนตรีในอาคารและภายนอกอาคารของพม่าอยู่ที่ เสียง อันดังตื่นเต้นเร้าใจ กับเสียงอันอ่อนหวานนุ่มนวลนั่นเอง “ดนตรีนอกอาคาร” มีชื่อเรียก กันหลายชื่อ แต่ละชื่อมักมาจากชนิดของกลองที่ใช้เป็นเครื่องดนตรีหลัก โดยมี วงซายวาย (sainwaing) เป็นวงดนตรีหลัก และแพร่หลายที่สุด วงดนตรีประกอบด้วยฆ้อง กลอง และปี่เป็นหลัก “วงดนตรีในอาคาร” ใช้เครื่องดนตรีเพียง  2 – 3 ชิ้นเท่านั้น บางคราว ก็มีเพียงนักร้องคนหนึ่ง กับเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งเช่น พิณ – ซ็องก๊อก หรือระนาด – ปัตตลา เพียงอย่างเดียว ประกอบกับฉิ่ง หรือกรับ ที่นักร้องเป็นผู้ตี เครื่องดนตรี ดังกล่าวนี้ มีทั้งเครื่องดนตรีเสียงตายตัวและเครื่องดนตรีที่ปรับเสียงได้ ปัจจุบันมีการนำเอา ไวโอลินและเปียโนไปประสมกับดนตรีดั้งเดิมของพม่ามากขึ้น

ซายวาย

คำว่า ซายวาย ใช้เรียกทั้งเครื่องดนตรีและวงดนตรี วงดนตรีเป็นดนตรีประกอบการแสดงที่สำคัญของพม่า ใช้บรรเลงประกอบการแสดงบนเวที ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนใช้บรรเลงในงานเทศกาลและพิธีการอย่างหลากหลาย เช่น การต้อนรับแขกบ้าน แขกเมือง เครื่องดนตรีในวงซายวาย สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามความเหมาะสมกับ สถานการณ์ เครื่องดนตรีหลัก อันได้แก่ ปัตวาย หรือ พาทวาย(Pat – Wain) . มองซาย (Maungzaing), เน่ (Hne), ช็อค ลอน บัต (Chauklon bat)และมีเครื่องประกอบจังหวะอื่นๆ

ปัตวาย, พาทวาย (Patwaing)

คือ กลองวง ที่ปรับเสียงเรียงลำดับสูงต่ำตามบันไดเสียงที่เหมาะสมประกอบด้วยกลองสองหน้าขนาดต่างๆ กันจำนวน 21 ลูกแขวนไว้กรอบราว รูปโค้งคล้ายร้านเปิงมางคอกของมอญ กรอบนั้นทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายงดงาม ตัวกลอง ทำด้วยไม้ขึงหนังสองหน้า มีขนาดยาวตั้งแต่ 12 – 40เซนติเมตร ทำให้เสียงได้มากกว่า 3 ช่วงทบ ตัวคอกที่แขวนกลองสูงประมาณ 1 เมตรประดับกระจกลายทอง ผู้เล่นจะนั่งบนเก้าอี้สูง ภายในคอกมองเห็นแต่ส่วนบนของลำตัวและตีกลองด้วย นิ้วมือแต่ไม่ได้จังหวะแบบกลองทั่วไป หากเป็นทำนองเพลงซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของปัตตวาย (เช่นเดียวกับเปิงมางคอกของมอญและใช้เป็นเครื่องดนตรีนำวง)

จีวาย (Kyiwaing)

จีวาย Kyi Waing
จีวาย Kyi Waing

จีวาย เป็นเครื่องดนตรีประเภทเดียวกันกับฆ้องวงของไทยเพียงแต่ร้านฆ้องทำด้วยไม้ปิดทองประดับกระจกเช่นเดียวกับ มองวาย จีวายชุดหนึ่งมี21 ลูก ใช้บรรเลงทำนองเพลง ฆ้องวงพม่าเรียงลูกฆ้องตามแนวนอนเช่นเดียวกับฆ้องไทย แต่ฆ้องมอญเรียงตามแนวนอนและตั้งขึ้นทั้งสองข้างคล้ายตัว U ภาษาท้องถิ่นเรียก จีวาย ว่า จีนอง ก็มี

มองซาย (Maung zaing)

มองซาย MaungZaing
มองซาย Maung Zaing

มองซาย คือ ฆ้องรางชุด เป็นเครื่องดนตรีที่ประกอบด้วยฆ้องปุ่มขนาดต่างๆ กัน แขวนไว้ รางที่เป็นกรอบไม้ตรงๆรูปสี่เหลี่ยมไม่มีการประดับตกแต่งอย่างจีวาย หรือ มองซาย มีลูกฆ้องทั้งสิ้น 18–19 ลูก เรียงกันเป็น 5 แถว ลูกฆ้องของมองซาย มีขนาดใหญ่กว่า จีวาย รางฆ้องจะวางราบกับพื้น ยกเว้นกรอบที่บรรจุฆ้องลูกใหญ่ชุดที่เสียงต่ำที่สุดจะวางพิงไว้กับ จีวาย เมื่อออกแสดง มองซายเป็นเครื่องดนตรีที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ในราวปี 1920 – 1930

หฺเน, เน (Hne)

เน เป็นเครื่องดนตรีประเภท Double reed Aerophonesหรือปี่ลิ้นคู่ ทรงกรวยปากผาย มีลำโพงโลหะครอบต่อจากส่วนปลาย เช่นเดียวกับปี่มอญเพียงแต่ปากลำโพงไม่บานกว้างอย่างปี่มอญเครื่องประกอบจังหวะในวงซายวาย ที่สำคัญได้แก่ ช็อค ลอน บัต (Shauklonbut) หรือกลองสอง-หน้าที่จัดไว้เป็นชุด ชุดหนึ่งมีกลอง 6 ลูก ใช้ตีเป็นรูปแบบหรือกระสวนจังหวะ ตามทำนองเพลง แต่ละชุดประกอบด้วยกลองทรงถัง 4 ลูก โดยวางหน้า กลองด้านหนึ่งลงบนพื้น มีกลองคล้ายกับตะโพนไทย เรียกว่า ซาห์กุน (Sahkun) มีกลองใหญ่แขวนบนราว เรียกว่า ปัตมา, พาทมา (Patma) 1 ลูก ทั้งชุดใช้ผู้บรรเลงคนเดียวเครื่องจังหวะอื่นๆได้แก่ บีอ็อก (Byauk) เกราะไม้, วาเล็ต ก๊อก (wallet kok)กรับไม้ยาว 150 เซนติเมตร ยักวิน (Yakwin) ฉาบใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร

หฺเน ปี่เน (Hne)
หฺเน ปี่เน (Hne)

        ซี (Si) ฉิ่ง, มอง (Mong) ฆ้องหุ่ย นอกจากนั้น ยังมีกลองขนาดต่างๆ กัน ที่ตีประกอบบทเพลงเฉพาะกรณีอีกด้วยซายวายใช้บรรเลงประกอบละคร และการแสดงต่างๆเกือบทุกประเภท รวมทั้งประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับวิญญาณ และพิธีทางพุทธศาสนาด้วย การบรรเลงประกอบละครวงซายวายอาจจะบรรเลงเพลงพิเศษขนาดเล็กที่เหมาะสมกับเหตุการณ์หรือเฉพาะตัวละคร นอกจากนั้น ยังมีเพลงที่ใช้ในพิธีกรรมทางวิญญาณ ที่เรียกว่า นัตพเว(Nat pwe) ซึ่งมีเพลงทั้งชุดรวม 37 เพลง แต่ละเพลงสำหรับเทพแต่ละองค์ ผีแต่ละตนบทเพลงเหล่านี้เป็นที่เข้าใจและรู้ความหมายกันดีในหมู่ชาวพม่า บทเพลงอีกชนิดหนึ่งที่เป็นวัฒนธรรมของพม่าก็คือ นารา ไล กา (Nara lei hka) ที่รวบรวมขึ้นในศตวรรษที่17 ประกอบด้วยเพลงพิธีกรรมทางศาสนา 37 เพลง และเพลงสำหรับดวงวิญญาณพม่า(นัต – Nat) ที่เกี่ยวข้องกัน อีก 37 เพลง

วงดนตรีและเครื่องดนตรีอื่นๆ

       แม้ว่าวงซายวายจะเป็นวงดนตรีที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของพม่าก็ตาม แต่ยังมีวงอื่นๆ อีก วงดนตรีดังกล่าวนี้เรียกชื่อตามชนิดของกลองที่นำมาใช้ เพราะกลองแต่ละชนิดจะทำหน้าที่ เฉพาะที่ เหมาะสมกับกาลเทศะ ได้แก่ วงสีดอ (Si daw) วงบองจี (Bon gyi) วงโอซี่ (O-zi) วงโดบัต(Do-bat) และ วงบยอ (Byaw) เป็นต้น

Saung

          พิณพม่า ซองก๊อก (SaungGauk) เครื่องดนตรีประเภทนี้จัดอยู่ในประเภทbowed harp ในประเทศพม่ามี 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ชนิดที่เกิดจากภูมิปัญญาของชนเผ่ามอญ และกะเหรี่ยง ซึ่งอาศัยอยู่ทางชายแดนไทยพม่า ส่วนอีกชนิดหนึ่งเป็นชนิดที่พัฒนาไปจนมีความงามวิจิตรพิสดาร เป็นเครื่องดนตรีในราชสำนักพิณชนิดแรกเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองมีสายระหว่าง 5 – 7 สายขึ้น สายด้วยลูกบิด เครื่องดนตรีชนิดนี้ชาวกะเหรี่ยงแถบตะนาวศรีในประเทศไทยเรียกว่า นาเด่ย ส่วนกระเหรี่ยงทางแม่ฮ่องสอนชาวปกากะยอ เรียกว่า เตน่า / เตหน่าฮาร์พชนิดเดียวกันนี้ ชาวกะตู้ในลาวตอนใต้ เรียกว่า ตะลือ เครื่องดนตรีชนิดนี้ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นต้นแบบให้เกิด ซองก๊อกในราชสำนักพม่า ส่วนอีกชนิดหนึ่งเป็นชนิดที่พัฒนาแล้ว ใช้วิธีขึ้นสายด้วยการผูกเชือกเป็นเงื่อนปมอันชาญฉลาด และมีสายถึง 14 สาย ฮาร์พชนิดนี้แต่เดิมเรียกว่า คอน(Con) แต่ในปัจจุบันเรียกว่า ซองก็อก นักวิชาการบางท่านอ้างว่าพิณชนิดนี้มีความสัมพันธ์กับฮาร์พ ของชาวเมโสโปโตเมียโบราณ ซึ่งต่อมาได้มีการนำไปใช้ในราชสำนักกษัตริย์ชาวพุทธแห่งอินเดียโบราณ แต่ก็ขาดหลัก-ฐานสนับสนุน นอกจากนั้น คำว่า“วีณา vina” ที่เป็นภาษาสันสกฤตก็ไม่มีใช้ ในภาษาพม่าด้วย ( Grove p.470) มีการพบพิณฮาร์พแบบนี้เป็นสภาพสลักนูนต่ำที่ศรีเกษตรา (Sri ksetra) ที่พม่าเรียกว่าทายีคิตตยา (Thayei-hkittaya) ซึ่งสร้างขึ้นในราวศตวรรษที่ 7 ประมาณ ปี พ.ศ. 1,500 และเป็นภาพวงดนตรีที่อาจเป็นไปได้ว่า เป็นวงดนตรีที่ส่งไปบรรเลงในราชสำนักจีน ที่เมืองฉางอาน ในปี คศ. 801-802 ซึ่งน่าจะเป็นวงประสมระหว่าง “พยู” พม่าตอนเหนือ กับ“ มอญ ” พม่าตอนใต้ก็เป็นได้ วงดนตรีดังกล่าวนี้ใช้พิณฮาร์พที่มีลูกบิดทำด้วยไม้นอกจากนั้นพงศาวดารพม่ายังได้กล่าวถึงพิณฮาร์พที่เมืองพุกาม (Pagan) ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบกลางของประเทศว่า มีวงดนตรีสำหรับเฉลิมฉลอง มีนักดนตรีสตรีบรรเลงพิณฮาร์พ ในราชสำนัก มีภาพสลักที่พระเจดีย์ในเมือง เป็ต-เลียก(Hpet-leik) ทางตะวันตกของประเทศ แสดงให้เห็นว่า รูปพิณฮาร์พที่ปรากฎนั้นเป็นวงโค้งอย่างงดงาม ด้วยฝีมือช่างมอญทางตอนใต้ อย่างไรก็ตามมีหลักฐานว่ามีอิทธิพลอินเดียเข้ามาสู่เมืองพุกามบ้างแล้ว ในศตวรรษที่ 11-12

เครื่องดนตรีพม่า Saung
เครื่องดนตรีพม่า Saung

        พิณพม่าชนิดที่ปรับปรุงอย่างงดงามแล้ว ปรากฏในราชวงศ์พม่าที่เมือง อวา(Ava) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของระหว่างปี 1,364 – 1,555 แต่พงศาวดารฉบับม้วนที่เขียนด้วยมือสมัย ราชวงศ์กอน – บอง (Kon-bauna) ระหว่างปี 1,752 – 1,885 ที่ปรากฏภาพพิณพม่าทรงเพรียว อ่อนช้อย ขึ้น เสียงด้วยปมเชือก และกล่องเสียงเป็นรูปเรือ มีห่วงเล็กๆอยู่ใต้คันทวนด้วย เป็นไปได้ว่าพิณชนิดนี้ประดิษฐ์ขึ้นโดย “เมียวดีมินคยี อู สะ” (Myo-wadi Min-gyi U Sa) ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1855-1933 โดยเพิ่มสายที่ 14 ซึ่งเป็นสาย สั้นที่สุดเข้าไป ต่อมากระทรวง วัฒนธรรมได้อนุญาตให้เพิ่มสายเข้าไปอีก 2 สาย จนทำให้ซองก๊อกมีสาย ถึง 16 สายในปัจจุบันคันทวนอันอ่อนช้อยของซองก๊อก ทำด้วยรากไม้ทรงโค้งที่พม่าเรียกว่า ก๊อก (gauk)

       โดยทำมาจากรากของต้น ชา-Sha ( ชื่อพฤกษศาสตร์ Acacea catechu ต้นสีเสียด ) ขัดแต่งจนได้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.8 เซนติเมตร ตอนปลายทำให้ผายออกเป็นรูปใบโพธิ์ ตามคติพุทธ (แต่ในทางปฎิบัติใช้สำหรับแนบหูเพื่อฟังเสียงเวลาตั้งสาย – Kit Young) ตัวกล่องเสียงทำด้วยไม้ ปาด็อก (Padauk ชื่อพฤษศาสตร์ Plerocapusmacrocpusต้นประดู่) ที่มีคุณภาพดี บาง เบา เป็นรูปโค้งคล้ายเรือ ส่วนหัวที่ติดกับคันทวนโค้งขึ้นเล็กน้อย ขัดให้เรียบแล้วทาด้วยน้ำมันพื้นเมือง ส่วนที่ใช้ผูกสายต่อจากกล่องเสียงปิดสนิทด้วยหนังกวางสดเข้ากับตัวกล่องเสียงอย่างแนบเนียน เผยให้เห็นเพียงส่วนกลางของหนังที่จะใช้ผูกสายเท่านั้น ส่วนห่วงที่อยู่ใต้คันทวนใช้เป็นเครื่องตกแต่ง และอาจใช้ยันไว้จากเข่าเวลาจะขึ้นสาย เนื่องจากต้องใช้แรงมากหนังกวางที่ปิดหน้าเมื่อแห้งแล้วจะต้องทาทับด้วยแลคเกอร์หลายชั้น แล้วฉาบด้วยของเหลวสีแดงที่เป็นผลิตภัณฑ์พื้นเมืองให้สวยงาม ขั้นสุดท้ายจึงทาทับด้วยน้ำมันพิเศษ จากรัฐฉานให้ทั่วทั้งตัว เพื่อ ให้เกิดเงางาม สายของซองก๊อกแต่เดิมทำด้วยไหมดิบฟั่นด้วยมือ ปัจจุบันใช้ไนลอน สายของซองก๊อกจะ ผูกติดกับเชือกที่พันไขว้ไว้กับคันทวนด้วยเงื่อนปมพิเศษ สามารถเลื่อนให้ตึงหย่อนเพื่อปรับเสียงของสายได้ด้วยการหมุนหรือเลื่อนขึ้นลงเพียงเล็กน้อย แต่เดิมในระหว่างที่ทำซองก๊อกจะมีพิธีกรรมเชิญผี (nat)ให้เข้ามาสิงสถิตอยู่ในตัวพิณ เพื่อให้มีเสียงดีเป็นที่นิยมด้วย ปัจจุบันอาจเลิกไปแล้ว

ที่มาของรูปภาพและเนื้อหา หนังสือนาฏศิลป์พม่า # ไทย – พม่า : เพราะแผ่นดินเราติดกัน myanmarcenter.kpru.ac.th/myanmar/index.php/2017-07-27-15-38-03 วันศุกร์, 27 พฤษภาคม 2565
บทความแนะนำ หมวดหมู่: กีฬา
จำนวนคอมเมนต์ของโพสต์ ID 175889: 2311