msds

16 MSDS ความปลอดภัยความหมายของสารเคมีแบบนี้คุณไม่รู้?

msds

msds คือ

Safety Data Sheet (SDS) หรือในบางครั้งเรียกว่า Material Safety Data Sheet (MSDS)นั้น หมายถึง เอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงข้อมูลของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์เกี่ยวกับลักษณะความเป็นอันตราย พิษ วิธีใช้ การเก็บรักษา การขนส่ง การกำจัดและการจัดการอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมีนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องและปลอดภัย
ในปัจจุบันตามประกาศของสหประชาชาติ เรื่อง ระบบการจำแนกและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก (The Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals, GHS) กำหนดให้ใช้ SDS เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสื่อสารข้อมูลสารเคมีนอกเหนือจากบนฉลาก และเพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเป็นระบบเดียวกัน จึงกำหนดให้เรียกว่า Safety Data Sheet (SDS) พร้อมกับได้กำหนดรูปแบบและข้อมูลใน SDS ไว้ 16 หัวข้อ โดยมีหัวข้อดังต่อไปนี้

รูปแบบและข้อมูลใน SDS ไว้ 16 หัวข้อ

  1. ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี และบริษัทผู้ผลิตและหรือจำหน่าย (Identification of the substance/preparation and of the Company/undertake)
  2. ข้อมูลระบุความเป็นอันตราย (Hazards Identification)
  3. ส่วนประกอบและข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสม (Composition/Information on Ingredients)
  4. มาตรการปฐมพยาบาล (First Aid Measures)
  5. มาตรการผจญเพลิง (Fire Fighting Measures)
  6. มาตรการจัดการเมื่อมีการหกรั่วไหลของสารโดยอุบัติเหตุ (Accidental Release Measures)
  7. ข้อปฏิบัติในการใช้และการเก็บรักษา (Handling and Storage)
  8. การควบคุมการรับสัมผัสและการป้องกันภัยส่วนบุคคล (Exposure Controls/Personal Protection)
  9. คุณสมบัติทางเคมีและกายภาพ (Physical and Chemical Properties)
  10. ความเสถียรและความไวต่อการเกิดปฏิกิริยา (Stability and Reactivity)
  11. ข้อมูลด้านพิษวิทยา (Toxicological Information)
  12. ข้อมูลเชิงนิเวศน์ (Ecological Information)
  13. มาตรการการกำจัด (Disposal Considerations)
  14. ข้อมูลสำหรับการขนส่ง (Transport Information)
  15. ข้อมูลเกี่ยวกับกฎข้อบังคับ (Regulatory Information)
  16. ข้อมูลอื่น (Other Information)

รูปสัญลักษณ์อันตราย

ระบบ GHS (Globally Harmonized System for Classification and Labelling of Chemicals)

ปัจจุบันนี้มีการใช้ผลิตภัณฑ์เคมีอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งประโยชน์ของการใช้ผลิตภัณฑ์เคมี มีมากมาย แต่ก็สามารถทำให้เกิดโทษได้เช่นกัน ดังนั้นองค์การสหประชาชาติจึงได้จัดระบบสากลเพื่อจำแนกความเป็นอันตราย และการติดฉลากสารเคมีเพื่อให้เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก ซึ่งระบบนี้เรียกว่า ระบบ GHS (Globally Harmonized System for Classification and Labelling of Chemicals)

โดยประโยชน์ของระบบ GHS นั้น เป็นระบบที่จะทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการปกป้องสุขภาพมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมจากอันตรายของสารเคมี ผ่านระบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ลดความซ้ำซ้อนในการจัดเตรียมข้อมูลและการประเมินสารเคมี วางรากฐานให้ประเทศต่าง ๆ มีข้อมูลสารเคมีที่ถูกต้องตรงกัน และ อำนวยความสะดวกการค้าสารเคมีระหว่างประเทศ โดยมีการระบุความเป็นอันตรายของสารเคมีภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน

โดยองค์ประกอบของฉลากตามระบบสากล GHS ได้แก่

  1. รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (Hazard pictogram) เป็นสัญลักษณ์สีดำบนพื้นขาวอยู่ภายในกรอบสีแดงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีทั้งหมด 9 รูปสัญลักษณ์ เพื่อสื่อความหมายของความเป็นอันตรายในแต่ละด้าน และแต่ละประเภท
  2. คำสัญญาณ (Signal word) มี 2 คำสัญญาณ คือ “อันตราย” และ “ระวัง’’
  3. ข้อความแสดงความเป็นอันตราย (Hazard statement) เป็นการอธิบายความเป็นอันตรายของสารเคมี เช่น ละอองลอยไวไฟ เป็นอันตรายเมื่อกลืนกิน ทำให้ผิวหนังไหม้อย่างรุนแรง และทำลายดวงตาเป็นต้น
  4. ข้อความ และรูปสัญลักษณ์แสดงข้อควรระวัง (Precautionary statement and pictogram) ประกอบด้วยคำเตือน และข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอันตราย เก็บรักษา การกำจัด และจัดการเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ใช้ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก เก็บให้ห่างจากเด็ก ห้ามนำภาชนะกลับมาใช้อีก หากถูกผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด เป็นต้น
  5. ตัวบ่งชี้ผลิตภัณฑ์ (Product identifier) ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อสารเคมีที่เป็นสารสำคัญ หรือสารอันตรายในผลิตภัณฑ์ และปริมาณความเข้มข้น
  6. การระบุผู้ผลิต หรือผู้จัดจำหน่าย (Supplier identification) ต้องมีชื่อที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย หรือหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินบนฉลาก
  7. ข้อมูลเพิ่มเติมอื่น ๆ (Supplementary information)

ที่มา:http://www2.envi.psu.ac.th/km/viewtopic.php?f=14&t=402,https://erdi.cmu.ac.th/?p=2933

อ่านบทความทั้งหมด >>> pangpond.com