คุกกี้เป็นขนมประเภทบิสกิต มีลักษณะเป็นชิ้นขนาดเล็ก ตกแต่งด้วยผลไม้ น้ำตาลสี เนื้อขนมนุ่มนวล เบา และกรอบร่วน มีรสหวานไม่จัด สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าขนมอื่นๆเหมาะสำหรับเป็นของว่าง รับประทานกับเครื่องดื่มชนิดต่างๆ
การทำคุกกี้ มีส่วนผสมและวิธีทำที่ไม่ยุ่งยาก
ลงทุนน้อย นอกจากจะทำไว้เพื่อรับประทานแล้ว ยังอาจทำเพื่อจำหน่ายได้
ชนิดของคุกกี้
1. คุกกี้หยอด (Dropped Cookies) เป็นคุกกี้ที่ทำง่าย อบง่าย รับประทานสะดวก แตกหักง่าย ผสมได้หลายรสหลายแบบมีชื่อต่างกันตามส่วนผสมปรุงรสที่เพิ่มเข้าไป เช่น คุกกี้เนย คุกกี้ถั่ว คุกกี้ลูกเกด คุกกี้กาแฟ ฯลฯ
วิธีการหยอด ใช้ช้อนสองคันตักหยอดให้ได้รูปทรงกลม ตักหยอดควรห่างกันเท่าตัว เพราะเวลาอบคุกกี้ชนิดนี้จะแผ่ตัวออก ลักษณะที่ดี เมื่ออบสุกจะกลมนูนตรงกลาง
2. คุกกี้กด (Pressed Cookies) ส่วนผสมคุกกี้ชนิดนี้จะข้นกว่าชนิดหยอด สามารถใช้กระบอกกดคุกกี้เป็นลายต่างๆได้ รูปร่างสวยงามไม่จำเป็นต้องแต่งหน้าเหมือนคุกกี้หยอด ได้แก่ คุกกี้เนย
วิธีทำ ใช้ส่วนผสมกรอกลงในกระบอกคุกกี้ เลือกลายตามชอบ เช่นรูปหัวใจ รูปดาว รูปดอกไม้ กดลงบนถาดที่ทาเนย นำเข้าอบ ลักษณะที่ดีเมื่ออบสุกจะมีลายสวยงาม ไม่มี รอยร่วนแตก
3. คุกกี้ปั้น (Molded Cookies) เป็นคุกกี้ชนิดที่เมื่อผสมแล้วนำมาปั้นเป็นรูปทรงต่างๆได้ เช่น เป็นรูปตุ๊กตา รูปดาว นก หัวใจ รูปไก่ รูปวงกลม ฯลฯ
วิธีปั้น ใช้ช้อนตักส่วนผสมลงบนมือ ปั้นรูปทรงตามต้องการ เช่นคุกกี้มะพร้าวปั้นเป็นก้อนกลม ลักษณะที่ดีเมื่ออบสุก รูปทรงและลวดลายในการปั้นชัดเจน ขนมจะนูนตรงกลาง
4. คุกกี้คลึง (Rolled Cookies) คุกกี้ชนิดกรอบร่วนนุ่มนวล คุกกี้ชนิดนี้ส่วนผสมจะแห้งสามารถใช้ไม้คลึงแป้งคลึงเป็นแผ่น จึงใช้พิมพ์กดคุกกี้รูปต่างๆ ตามลายที่ต้องการ เช่น คุกกี้ไส้ครีมมะนาว คุกกี้ไส้สับปะรด
วิธีทำ นำส่วนผสมนวดให้เข้ากัน วางลงบนกระดาษไข คลึงแป้งให้บางตามต้องการ แล้วนำพิมพ์กดคุกกี้รูปแบบต่างๆกดลาย นำแป้งที่กดได้ วางลงบนถาดที่ทาเนยนำเข้าอบ ลักษณะที่ดีเมื่ออบสุก จะกรอบร่วน ไม่กรอบกระด้าง และไม่ค่อยหวาน
5. คุกกี้แท่ง (Bar Cookies) คุกกี้ชนิดนี้อร่อยและอุดมด้วยคุณภาพทางอาหาร เป็นคุกกี้ชนิดที่มีลักษณะอ่อนตัวมีความชุ่มฉ่ำ ใช้เป็นของหวานหลังอาหารมื้อต่างๆ หรือเป็นของว่างรับประทานกับน้ำชา ได้แก่ บราวนี่
วิธีทำ ใช้เกลี่ยลงในถาดเป็นชั้น ระหว่างชั้นตกแต่งด้วยผลไม้และถั่ว รวมทั้งน้ำตาลในรูปต่างๆ เสร็จแล้วจึงนำออกมาตัดเป็นชิ้นๆ เหมือนขนมไทยๆ เช่น ขนมชั้น ขนมหม้อแกง ขนมสังขยา ลักษณะที่ดีเมื่ออบสุก ส่วนใหญ่จะนุ่มเหมือนเค้ก บางชนิดจะกรอบ หรือเหนียว
6. คุกกี้แช่เย็น (Refrigerator Cookies) หรือคุกกี้แฟนซี หมายถึงคุกกี้ชนิดที่เมื่อผสมเสร็จแล้ว นำไปห่อกระดาษไข กระดาษแก้ว หรืออะลูมิเนียมฟอยด์ และแช่ในตู้เย็นช่องแข็งสักครู่แล้วนำมาใช้มีดคมๆ ตัดเป็นรูปต่างๆ เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ผิวนอกอาจจะปรุงรสด้วยถั่ว ถั่วอัลมอน ผลไม้แห้ง เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ลักษณะที่ดีเมื่ออบสุก จะกรอบแข็งหรือกรอบกระด้าง
เทคนิคในการทำคุกกี้
1.เนยสดหรือมาการีนหรือเนยขาว มีกลิ่นและรสชาติที่ต่างกันสุดแต่ต้นทุนในการผลิตแพง เนยสดรสชาติดีที่สุด มารการีนให้รสชาติของขนมลองลงมาท้ายที่สุดก็คือเนยขาว ถ้าใช้เนยขาวล้วนในการทำจะทำให้คุกกี้มีลักษณะโปร่งเบามากเกินไป เวลาอบสุกผิวของขนมจะเป็นขุยเปราะหักง่าย กลิ่นและรสชาติด้อยไม่อร่อย ดังนั้นจึงไม่นิยมนำเนยขาวขาวล้วนมาทำคุกกี้ ถ้าต้องการลดต้นทุนในการผลิตอาจใช้เนยสดผสมมารการีนหรือใช้มารการีนล้วน แล้วแต่งกลิ่นนมเนยช่วย ก็จะทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง
2. การทำคุกกี้ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการตีเนยสดกับน้ำตาล เนื่องจากบ้านเรามีอากาศร้อน ถ้าใช้เนยสดทำขนมควรนำเนยสดออกมาตีในขณะที่ยังเย็นอยู่ ถ้าเนยสดอ่อนตัวมากเกินไปเนยจะไม่เก็บอากาศคุกกี้จะมีลักษณะแข็ง
3. การตีเนยกับน้ำตาลทราย ถ้าตีน้อยเกินไปจะทำให้คุกกี้มีลักษณะดังนี้ ส่วนผสมข้นเกินไป เหนียว บีบยาก ขนมที่อบสุกมีขนาดเท่าเดิม ไม่ขยายตัว ขนมที่สุกมีลักษณะแข็ง ไม่กรอบร่วน
4. ตีเนยสดกับน้ำตาลทรายมากเกินไป ส่วนผสมเหลวบีบง่าย ขนมที่อบสุกมีการแผ่ขยายมากเกินไป ลักษณะของขนมแบน เนื้อของขนมที่อบสุกหยาบ กรอบ ร่วนมากเกินไป
5. ความเร็วของเครื่องในการตีเนย ถ้าใช้ความเร็วช้าไปเกิดอากาศ ยิ่งตีนาน ยิ่งเหลว ดังนั้นควรตีเนยด้วยความเร็วของเครื่องระดับปานกลางขึ้นไป หรือถ้าใช้ความเร็วสูงก็ใช้ระยะเวลาในการตีให้สั้นลง
6. การใช้อุปกรณ์ในการตีเนย ใช้หัวตะกร้อตีเนยจะใช้ระยะเวลาสั้นกว่าการใช้หัวใบไม้และฟูได้เร็ว ถ้าเนยสดมีลักษณะแข็งเกินไป อาจทำให้เส้นตะกร้อขาดได้ ควรใช้ความเร็วต่ำก่อนตีเพื่อให้เนยอ่อนตัว และใช้ความเร็วสูงเพื่อให้เนยขึ้นฟู
7. การใส่ไข่ควรใช้ไข่ที่เย็น ควรใส่ไข่เมื่อตีเนยสดกับน้ำตาลทราย จนกระทั่งขึ้นฟูขาวเล็กน้อยแล้วจึงใส่ไข่แล้วตีต่อให้ขึ้นฟูจะช่วยทำให้ระยะ เวลาในการตีเนยสดให้ฟูเร็วขึ้น
8. ระยะ เวลาในการตีเนยสดกับน้ำตาลทราย ถ้าใช้น้ำตาลทรายไม่จำเป็นจะต้องตีเนยสดกับน้ำตาลทราย จนกระทั่งน้ำตาลทรายละลายหมด การใส่ไข่เร็วจะช่วยให้น้ำตาลละลายให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันควรเลือกซื้อน้ำตาลทรายเม็ดเล็กๆ ก็จะช่วยในการทำให้น้ำตาลละลายได้เร็วขึ้น ระยะเวลาในตีเนยกับน้ำตาลถ้าตีนานเกินไปจะทำให้เนื้อคุกกี้โปร่งพองมากเกิน ไปและถ้าใช้น้ำตาลเม็ดใหญ่ เมื่อขนมอบสุกก็จะมีเม็ดน้ำตาลหลงเหลืออยู่บนหน้าของขนม
9. การใส่แป้งลงในส่วนผสม ไม่ควรจะใส่ทีละน้อย เพราะจะทำให้ระยะเวลาในการผสมนาน อาจทำให้คุกกี้เหนียวได้ ควรแบ่งแป้งออกเป็น2-3ส่วน ใส่ทีละส่วน ผสมให้เข้ากันด้วยความเร็วตํ่าของเครื่อง
10. คุกกี้ที่ตีเสร็จแล้ว ถ้ามีลักษณะเหลวเกินไป อาจเติมแป้งได้เล็กน้อย แต่ต้องระวังเพราะถ้าเติมมากเกินไปก็จะทำให้คุกกี้จืดและมีลักษณะแข็ง ตีคุกกี้ข้นเกินไป อาจแก้ไขโดยการตีคุกกี้ขึ้นมาใหม่อีกสูตร ตีเนย กับนํ้าตาลให้นานขึ้นกว่าปกติ เพื่อให้คุกกี้มีลักษณะเหลวกว่าปกติ แล้วนำคุกกี้ที่แข็งมาผสมรวมกัน
11. เมล็ด ถั่วต่างๆที่จะนำลงมาใส่คุกกี้ควรจะนำมาอบให้สุกและกรอบเสียก่อน
12.การหยอดคุกกี้ลงบนถาดควรเว้นระยะประมาณ1/2-1ซม. เพื่อให้คุกกี้ขยายตัวในระหว่างการอบ
13. คุกกี้ที่อบสุกแล้วควรแซะออกจากถาดทันที ถ้ารอให้คุกกี้เย็นในถาดจะทำให้แตกหักในระหว่างการแซะออกจากถาดได้
14. ลักษณะของคุกกี้เมื่อสุกแล้วจะมีสีสันสวยงาม เนื้อขนมมีลักษณะนุ่มเล็กน้อย ถ้าจับในลักษณะที่ยังร้อน แต่ถ้าปล่อยให้เย็นคุกกี้ก็จะมีลักษณะกรอบ
15. อุณหภูมิที่ใช้ในการอบคุกกี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 300 ํF หรือ 150 ํC มีแต่ไฟล่างระยะเวลาในการอบประมาณ 15-20 นาทีแล้วแต่ขนาดของขนม
16. ขนาดของขนมควรมีขนาดเท่าๆกันจะช่วยให้ขนมที่อบสุกมีสีสันสวยงามทั้งถาดถ้ามีชิ้น เล็กบ้างใหญ่บ้าง ชิ้นเล็กก็จะสุกก่อนชิ้นใหญ่เสมอ ทำให้เสียเวลาให้การแซะออกก่อน
17. คุกกี้ที่มีส่วนผสมของเนยมากจะนิ่มเร็วถ้าโดนอากาศ ดังนั้นเมื่อวางขนมจนเย็นแล้วควรเก็บใส่ถุงปิดสนิททันที ในขณะเดียวกันที่คุกกี้มีปริมาณของเนยน้อยก็จะนิ่มช้ากว่าแม้ว่าจะวางเอาไว้ ด้านนอกกล่อง ปริมาณของเนยที่อยู่ในตัวขนมจะเป็นตัวดูดความชื้นจากอากาศ ยิ่งเนยมากก็ดูดความชื้นเร็ว
18. การหั่นคุกกี้แช่แข็ง ถ้าเอาออกมานอกตู้เย็นสักพัก จะทำให้หั่นได้ง่ายขึ้น ถ้าขนมเย็นจัดจะทำให้ขนม หั่นยากต้องออกแรงมาก อีกทั้งบางชนิดของขนมแตกหักง่ายไม่สวยงาม
19. การอบคุกกี้แช่แข็งสามารถอบได้ทันทีไม่ต้องรอให้คุกกี้หายเย็น
20. การม้วนคุกกี้แช่แข็งเป็นแท่งกลมต้องม้สนให้แน่น มิฉะนั้นคุกกี้จะมีรูกลวงตรงกลางอาจใช้ไม้บรรทัดช่วยม้วนให้แน่นขึ้นได้
21. คุกกี้แช่แข็งนั้นสามารถทำล่วงหน้าเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน โดยเก็บในช่องแช่แข็ง แล้วค่อยๆ ทยอยนำออกมาอบขาย
22. คุกกี้ ที่อบไว้เป็นเวลานานๆ กลิ่นของเนยอาจจะหายไปได้ดังนั้นการใส่กลิ่นนมเนยเพิ่มเข้าไปในกรณีที่ใช้ มาการีนก็จะช่วยให้ขนมเก็บได้นานขึ้น
23. คุกกี้ เป็นขนมที่เก็บไว้ได้นานเป็นเดือน จึงไม่มีความจำเป็นต้องใส่ยากันรา ควรปิดปากถุงหรือปิดขวดให้สนิท เพื่อให้ขนมกรอบได้นานขึ้นและเพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นหอมของเนยระเหยออก